กำจัด "ฮอร์โมนหิว" ตัวการขัดขวางยามลดความอ้วนกันเถอะ
2014-01-24

สาวๆ ที่กำลังไดเอทอยู่สงสัยไหมล่ะคะว่า ทำไมลดน้ำหนักไม่ลงซะที ยิ่งพยายามเลิกกินมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกหิวมากขึ้นเท่านั้น เริ่มแรกต้องรู้จักกับฮอร์โมนตัวดีที่ทำให้ลดน้ำหนักเท่าไหร่ก็ไม่ลงสักทีชื่อว่า ฮอร์โมนหิว ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "เกรลิน" (Ghrelin Hormone)

เจ้าฮอร์โมนหิวหรือเกรลิน จะถูกหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร ส่งสัญญาณบอกสมองว่า หิวแล้วนะ ต้องกินล่ะนะ แล้วเราก็จะเริ่มมองหาอาหารใส่ปาก ช่วงเวลาสำคัญมักจะเป็นช่วงก่อนมื้ออาหารที่ระดับของเกรลินขึ้นสูง จนเราได้เริ่มต้นรับประทานอาหารถึงจะทำให้ระดับของเกรลินลดลงเป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย ใครที่คิดจะลดความอ้วนจึงจำเป็นต้องพยายามควบคุมเกรลินให้ไม่สูงเกินไป และไม่ถูกหลั่งออกมาเร็วเกินไป มาดูวิธีการจัดการกับความหิวกันเลยดีกว่า

 

1. เพิ่มโปรตีนดีในมื้ออาหาร การรับประทานอาหารที่มีโปรตีนดีสูง เช่น ไข่ขาว ปลา ถั่ว เหล่านี้จะช่วยยับยั้งการหลั่งของเกรลิน ที่สำคัญควรจะรับประทานสิ่งเหล่านี้ในมื้อเช้าก็จะดีมาก

 

2. เลี่ยงอาหารไขมันสูง เพราะพวกอาหารที่มีไขมันสูงทำให้เราหิวง่ายขึ้น โดยมื้ออาหารที่มีไขมันสูงส่งผลยับยั้งฮอร์โมนหิวหรือเกรลินได้ไม่ดีเท่าอาหารไขมันต่ำ 

 

3. อย่านอนดึก หากร่างกายไม่ได้พักผ่อนอย่างเพียงพอจะส่งผลให้หิวบ่อยขึ้น เพราะการนอนไม่พอกระตุ้นการผลิตของเกรลิน ทางที่ดีควรพักผ่อนให้ได้วันละ 6-8 ชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง ตื่นขึ้นมาก็จะรู้สึกสดชื่น ไม่เพลียง่าย และไม่หิวบ่อยด้วยนะคะ

 

4. รับประทานมื้อเล็ก แต่บ่อยขึ้น ในแต่ละมื้อควรแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยขึ้นทุก 3-4 ชั่วโมง เพื่อกระตุ้นเปปไทด์ YY3-36 ที่ไปยับยั้งการหลั่งของเกรลิน

 

5. หาทางจัดการกับความเครียด ความเครียดส่งผลเสียต่อร่างกายในหลายด้าน ดังนั้นจำเป็นต้องออกกำลังกาย นวด นั่งสมาธิ หรือฟังเพลง เพื่อผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ เพราะในช่วงเวลาที่เรามีความเครียดหรือวิตกกังวล เกรลินจะถูกผลิตเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เราหิวง่ายขึ้นอีกด้วย

 

เพียงกำจัดฮอร์โมนหิว การลดความอ้วนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปค่ะ

 

 

เครดิต: thaihealth.or.th และ newsana.com

 

คีย์เวิร์ด
ลดความอ้วน
ลดน้ำหนัก
เกรลิน
ฮอร์โมนหิว
Ghrelin hormone
OpenRice TH Editor
บทความที่เกี่ยวข้อง
สเต๊กเนื้อวากิวส่วนซี่โครง เมนูพิเศษเดือนมีนาคมห้องอาหาร Prime+
2017-03-10