วิธีทำยำขนมจีนสุดแซ่บ พร้อมไขความลับต้นกำเนิดขนมจีน
2016-03-21

วิธีทำยำขนมจีน 3 แบบ จะปลาร้า หรือ จะซีฟู้ด ก็อร่อยเลียนิ้ว!

                หลายคนคงสงสัยว่า แล้วเจ้าขนมจีนเส้นขาวๆ กลมๆ นุ่มๆ นี้ มีประวัติความเป็นมา หรือถิ่นกำเนิดจากที่ไหนกันแน่ เห็นเรียก ขนมจีน ใช่เป็นของคนจีนหรือเปล่านะ

                เปล่าเลยค่ะ กลับกลายเป็นอาหารของชาวมอญหรือรามัญ ซึ่งเรียกขนมจีนว่า “คะนอมจีน” หมายถึง ทำให้สุก 2 ครั้ง เพราะ “คะนอม” แปลว่า จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วน “จีน” ของชาวมอญหมายถึง ทำให้สุก นั่นเอง

                อย่างที่เราเห็นในท้องตลาดจะพบว่า ขนมจีนมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ ขนมจีนแป้งหมัก และขนมจีนเส้นสด ส่วนกรรมวิธีในการทำขนมจีนทั้งสองก็แตกต่างกันด้วย จะเป็นอย่างไรนั้น ตามมาดูกันเลย

เครดิตภาพ: wikimedia.org

                ขนมจีนแป้งหมัก เป็นการหมักด้วยแป้งข้าวเจ้า โดยการนำแป้งข้าวเจ้าไปแช่น้ำให้นิ่ม แล้วนำไปโม่ก่อนหมักประมาณ 7 วัน จากนั้นก็นำไปนวดเป็นแป้งสำหรับผลิตเส้นขนมจีน แต่ถ้าเป็นวิธีแบบโบราณจะใช้ข้าวแข็ง หรือข้าวหนัก ประเภทข้าวเล็บมือนาง ข้าวพลวง หรือข้าวปิ่นแก้วมาทำ ยิ่งได้ข้าวแข็งเท่าไหร่จะยิ่งทำให้เส้นขนมจีนที่ออกมาเหนียวน่าทานเป็นพิเศษ จากนั้นให้นำข้าวแข็งที่เลือกไว้มาแช่น้ำ ซึ่งต้องเป็นน้ำจากแหล่งธรรมชาติเท่านั้น เช่น จากคลองชลประทาน หรือน้ำบาดาล จะไม่ใช้น้ำประปาอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เส้นขนมจีนเละ ไม่น่าทาน เมื่อแช่น้ำแล้วก็นำมาโม่ และนวดเป็นแป้งขนมจีนต่อไป

เครดิตภาพ dekzen111.com

                เมื่อได้แป้งขนมจีนที่ต้องการแล้ว ก็นำไปเทใส่ในกระบอกทองเหลืองที่มีรูเจาะไว้ โดยแต่ละรูจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร แล้วกดแป้งผ่านรูในน้ำที่ต้มเดือด เมื่อเส้นสุกลอยขึ้นมาก็ตักใส่ลงไปในน้ำเย็นทันที จากนั้นจับเส้นขนมจีนเป็นกลุ่มขนาด 1 ฝ่ามือ ซึ่งจะเรียกว่า “แพ” หรือ “หัว” ขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่น แล้วนำมาเรียงในจานเพื่อเตรียมรับประทานหรือจำหน่ายต่อไป

เครดิตภาพ manager.co.th

                ส่วนขนมจีนเส้นสดจะมีวิธีทำคล้ายกับขนมจีนแป้งหมัก แต่ใช้ระยะเวลาน้อยกว่า เพราะไม่ต้องแช่น้ำหลายวัน มีขนาดเส้นที่ใหญ่กว่า ขาวกว่า และอุ้มน้ำมากกว่า จึงทำให้ตัวเส้นนุ่ม แต่เมื่อพูดถึงความเหนียวแล้ว ขนมจีนแป้งหมักจะเหนียวมากกว่า หากใครที่ชอบเส้นเหนียวๆ หน่อย อาจจะยังไม่ประทับใจขนมจีนเส้นสดเท่าที่ควร ส่วนระยะเวลาในการเก็บ ขนมจีนเส้นสดจะเก็บได้ไม่นาน เมื่อทำเสร็จแล้ว จึงแนะนำให้ทานทันทีจะดีที่สุด

ขนมจีนถือเป็นอาหารคาวยอดนิยมที่เป็นขวัญใจของใครหลายคน ไม่ว่าจะอยู่ภาคไหนของประเทศ หากมีงานมงคล ไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง งานบุญ หรือขึ้นบ้านใหม่ ก็ต้องมีขนมจีนเป็นอาหารจานหลักไว้เลี้ยงรับรองแขกควบคู่กับน้ำพริก หรือน้ำยา พร้อมผักประจำท้องถิ่นนานาชนิดนั่นเอง และรู้หรือไม่ว่า ขนมจีนจะมีชื่อเรียกขานในแต่ละภาคที่แตกต่างกันอีกด้วย จะเรียกอะไรบ้างก็ต้องตามมาติดๆ

อย่างภาคเหนือ จะเรียกขนมจีนว่า ขนมเส้น ข้าวเส้น หรือข้าวหนมเส้น นิยมกินคู่กับน้ำเงี้ยว โดยมีแคบหมูเป็นเครื่องเคียง

ขนมจีนน้ำเงี้ยว

เครดิตภาพ paigin.com

ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะรู้จักขนมจีนกันดีในชื่อ ข้าวปุ้น หรือนมปั่นเจ๊าะในทางอีสานตอนใต้ และเพิ่มความแซ่บด้วยการกินคู่กับน้ำยาใส่ปลาร้า หรือนำมาทำตำซั่วก็แซ่บหลายไม่แพ้กัน

ตำซั่ว

เครดิตภาพ zabdelivery.com

สำหรับภาคกลาง ก็นำขนมจีนมากินคู่กับน้ำยากะทิ หรือแกงเผ็ดต่างๆ และหากเข้าฤดูร้อนเมื่อไหร่ก็จะเห็นเมนูขนมจีนซาวน้ำวางขายตามท้องตลาดเพื่อดับร้อนกันมากมายทีเดียว

ขนมจีนน้ำยากะทิ

เครดิตภาพ puiiiimage.thaimultiply.com

ขนมจีนซาวน้ำ

เครดิตภาพ cookded.com

และภาคใต้ ที่เรียกขนมจีนว่า โหน้มจีน ก็นิยมนำมากินคู่กับแกงไตปลา น้ำยาน้ำพริก หรือข้าวยำ ที่แปลกไปกว่านั้นที่ภูเก็ตจะนิยมกินขนมจีนกับห่อหมก ไก่ทอด ทอดมัน ชาร้อน กาแฟร้อน และปาท่องโก๋อีกด้วย

ขนมจีนแกงไตปลา

เครดิตภาพ lekkathaifood.blogspot.com

ขนมจีนภูเก็ต

เครดิตภาพ มาเรีย ณ ไกลบ้าน

รู้แจ้งแจ่มชัดกันแล้วว่าขนมจีนมีที่มาอย่างไร มื้อต่อไปอย่าลืมชวนเดอะแก๊งไปหม่ำขนมจีนให้ปรีเปรมกันดีกว่า เพราะ เส้นขาวๆ ชวนกิน นุ่มลิ้นอย่าบอกใคร จับเส้นเป็นแพไว้ ราดกับน้ำพริก น้ำยา อร่อยดี!

 

คีย์เวิร์ด
ขนมจีน
ขนมจีนมาจากไหน
ต้นกำเนิดขนมจีน
ประเภทขนมจีน
OpenRice TH Editor