ทำความสะอาด “ฟองน้ำล้างจาน” ให้คลีนแอนด์เคลียร์กันเถอะ
2016-05-19

...วิธีดูแลฟองน้ำล้างจานให้สะอาดไกลโรค...

ใครจะรู้ว่าอาหารหน้าตาดีบนจานสวยหรู อาจจะไม่ได้สะอาดสวยงามอย่างที่ตาเห็น เพราะแบคทีเรียที่สะสมอยู่ในฟองน้ำ อาจจะปะปนมากับมื้ออาหารอร่อยของเรา โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว!! แล้วเราควรทำอย่างไร ไม่ให้เจ้าแบคทีเรียมาวุ่นวายในจานอาหารมื้อพิเศษของเรา วันนี้ OpenRice มีวิธีดูแลเจ้าฟองน้ำ อุปกรณ์ทำความสะอาด จาน ชาม แก้วน้ำ ของเราให้คลีนและเคลียร์ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของเรามานำเสนอค่ะ

ล้างจานอย่างถูกวิธี ไม่มีแบคทีเรีย

การทำความสะอาดภาชนะบรรจุอาหารและอุปกรณ์ประกอบอาหาร เป็นกิจกรรมที่หลายคนไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่นัก แต่ใครจะรู้ว่า การทำความสะอาดแบบไม่ถูกวิธี ก็อาจเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วง ท้องเสียตามมาได้ ดังนั้นเราจึงควรหันมาใส่ใจกันสักนิด ในการเลือกอุปกรณ์ล้างจาน และวิธีทำความสะอาดภาชนะเหล่านั้น เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม มีด แก้วน้ำ 

“ฟองน้ำ”  แยกกันใช้ สบายใจ ไกลโรค

ก่อนอื่น เราควรรู้จักวิธีการแยกประเภทภาชนะที่จะล้าง และควรแยก “ฟองน้ำ” ซึ่งเป็นอุปกรณ์การทำความสะอาดไว้เป็นชุด ๆ เพราะภาชนะแต่ละประเภทมีคราบไขมัน และเศษอาหารที่แตกต่างกัน เช่น กลุ่มที่ 1 จานชาม กลุ่มที่ 2 อุปกรณ์ประกอบอาหาร หม้อ กระทะ และกลุ่มที่ 3 แก้วน้ำ  ควรแยกกันล้าง และควรใช้ฟองน้ำ หรือใยขัด คนละอันกัน

กลุ่มที่ 1 จานชาม ควรใช้ฟองน้ำและใยขัด เพราะจานชามจะมีไขมันและเศษอาหารเกาะติดฝังแน่น จึงควรเลือกฟองน้ำที่ค่อนข้างหยาบเพื่อขจัดคราบได้ดี

กลุ่มที่ 2 หม้อ กระทะ ผ่านการปรุงอาหารทั้งคราบซีอิ้ว น้ำมัน คราบไหม้ และความร้อน จึงต้องทำความสะอาดคราบฝังลึก ด้วยใยขัดหรือใยขัดแบบโลหะ ที่ขจัดคราบได้สะอาดกว่าฟองน้ำทั่วไป

กลุ่มที่ 3 แก้วน้ำ ควรใช้ฟองน้ำที่นุ่ม และล้างได้ลึกถึงก้นแก้ว  สิ่งสำคัญคือ ควรแยกฟองน้ำจากภาชนะอื่นเด็ดขาด  เนื่องจากแก้วน้ำมีคราบสกปรกจากอาหารเพียงเล็กน้อย จากการสัมผัสภายนอกแก้ว และการดื่มที่ขอบแก้ว ดังนั้นจึงไม่ควรนำฟองน้ำที่เปื้อนไขมันมาก ๆ มาล้างแก้ว เพราะจะยิ่งเพิ่มความสกปรกให้แก้วมากขึ้น

ฟองน้ำ สกปรก หนึ่งในสาเหตุของ “โรคอาหารเป็นพิษ”

การล้างจานอาจจะเป็นเรื่องง่ายที่ใคร ๆ ก็ทำกัน แต่ใครจะรู้ว่า มีโรคร้ายที่แฝงตัวอยู่กับอุปกรณ์ในการล้างจานของคุณ นั่นก็คือ โรคอาหารเป็นพิษ หรือท้องร่วง ท้องเสีย จากจานชามที่ไม่สะอาด

 มีงานวิจัยระบุว่า เชื้อแบคทีเรียตกค้างบนแผ่นใยขัดและฟองน้ำ เกิดจากการดูแลรักษาและทำความสะอาดฟองน้ำแบบที่ไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรียซัลโมเนลล่า ที่ติดมากับเนื้อสัตว์ซึ่งเมื่อนำแผ่นใยขัดและฟองน้ำไปทำความสะอาดภาชนะบรรจุอาหาร และอุปกรณ์ประกอบอาหาร จึงทำให้มีเชื้อแบคทีเรียไปเกาะติดกับภาชนะ นำมาซึ่งอาการของโรคอาหารเป็นพิษทั้งที่รุนแรง และไม่รุนแรง ตั้งแต่อาการท้องร่วงธรรมดา ไปจนถึง อหิวาตกโรค

ดูแล “ฟองน้ำ” อย่างไร ให้ไร้เชื้อโรค

เคล็ดไม่ลับกับวิธีการลดหรือทำลายเชื้อแบคทีเรียในฟองน้ำทำได้หลายวิธี ให้เลือกค่ะ

- เมื่อใช้ฟองน้ำเสร็จแล้ว ให้ล้างฟองน้ำให้สะอาดอีกครั้ง จากนั้นจึงนำไปตากแดด ทิ้งไว้ประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง จะเป็นการฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี หลีกเลี่ยงการเก็บไว้ในที่ชื้น เพราะอาจเกิดเชื้อราได้

- ในกรณีที่ไม่มีแดด สามารถใช้ความร้อนจากการเข้าอบในไมโครเวฟ เพื่อฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าอบแห้งเกินไป ฟองน้ำอาจจะไหม้ได้

- น้ำส้มสายชู ฆ่าเชื้อโรค ด้วยการนำฟองน้ำ และใยขัด แช่ในนำน้ำส้มสายชู หรือกรดน้ำส้ม 4 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำครึ่งลิตร ทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นจึงล้างออก น้ำส้มสายชูจะช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์ในฟองน้ำ สะอาด ปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย

- การเลือกผลิตภัณฑ์ล้างจานที่มีสารยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถช่วยได้

- การทำความสะอาดฟองน้ำเป็นประจำ  สัปดาห์ละอย่างน้อย 2 ครั้ง น่าจะเป็นวิธีที่ปลอดภัย และป้องกันอันตรายจากการสะสมของเชื้อโรคได้ดีที่สุด

เชื้อโรคอยู่ใกล้ตัวเรามาก เพียงแต่เรามองไม่เห็น วิธีที่จะช่วยให้เรารับมือกับเชื้อโรคได้ นั่นก็คือ การป้องกันตัว ไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง การทำความสะอาดฟองน้ำอย่างถูกสุขลักษณะ ถือเป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยป้องกันให้เราห่างไกลจากเชื้อโรคที่เรามองไม่เห็นได้เป็นอย่างดี


 อ้างอิง/เครดิตภาพ: http://th.aliexpress.com l www.thaihealth.or.th

คีย์เวิร์ด
ฟองน้ำล้างจาน
ล้างจานอย่างถูกวิธี
ล้างจาน
สะอาดไกลโรค
OpenRice TH Editor