ประวัติข้าวแช่และวิธีกินข้าวแช่ที่ถูกต้อง
2016-04-11

เดือนเมษายนมาถึง เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าได้ย่างเข้าหน้าร้อนอย่างเป็นทางการ ความร้อนที่ระอุกรุ่นทำให้อุณหภูมิทั้งภายนอกและภายในร่างกายร้อนขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ร้อนภายนอกยังพอมีวันสงกรานต์สาดน้ำเล่นกันให้ชื่นฉ่ำกาย แล้วร้อนภายในล่ะ จะแก้ด้วยอะไรดีนะ...“ข้าวแช่” นั่นไง เมนูสุดเด็ดที่ร้านรวงต่างๆ พร้อมจะเปิดสำรับคลายร้อนจากภายในให้คุณชื่นใจตลอดคิมหันตฤดูนี้

ข้าวแช่มาจากไหน?

จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า “ข้าวแช่” เมนูอันหอมเย็นชื่นใจประจำหน้าร้อนจะเป็นตำรับอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ โดยชาวมอญจะเรียกว่า "เปิงด๊าดจ์"  ซึ่ง "เปิง" แปลว่า "ข้าว" และ "ด๊าดจ์" แปลว่า "น้ำ" "เปิงด๊าดจ์" จึงมีความหมายว่า "ข้าวน้ำ" ที่นิยมทำขึ้นเพื่อถวายทวยเทพในเทศกาลตรุษสงกรานต์ โดยทำถวายแด่พระสงฆ์ และนำไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

ข้าวแช่ชาวมอญ

ข้าวแช่กับสงกรานต์

จากตำนานสงกรานต์มอญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จารึกไว้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จำนวน 7 แผ่น ระบุไว้ว่า มีเศรษฐีชาวมอญผู้หนึ่งอยากได้บุตรธิดามาก จนไปบวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์อยู่นานถึง 3 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที จนถึงวันนักขัตฤกษ์ต้นปีใหม่ ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีผู้นั้นจึงเปลี่ยนไปบวงสรวงพระไทรที่สิงสถิตในต้นไม้ใหญ่ริมน้ำ ด้วยการให้บริวารนำเมล็ดข้าวสารงามล้างน้ำถึง 7 ครั้งจนหมดมลทิน แล้วนำไปหุงเพื่อบูชาเทวดา และทำอาหารอันโอชะอย่างประณีตสวยงามอีกมากมายไปถวาย พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน จนในที่สุดเขาก็ได้บุตรชายสมดั่งที่ตั้งใจ จึงเป็นตำนานความเชื่อสืบต่อกันมาของชาวมอญที่นิยมทำข้าวแช่บูชาเทพยดาในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้สมหวังดั่งใจปรารถนานั่นเอง

สงกรานต์ชาวมอญ

เครดิตภาพ http://www.tiewpakklang.com/news/kanchanaburi/11323/

ด้วยความที่คนไทยกับคนมอญมีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนาน จึงทำให้ข้าวแช่ได้แพร่มาสู่สำรับไทย และเริ่มเข้าสู่สำรับชาววัง เมื่อสตรีชาวมอญได้เข้ารับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จึงได้ปรุงข้าวแช่เพื่อถวาย ต่อมา ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ ผู้ที่เคยทำงานห้องเครื่องต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำข้าวแช่ออกสู่ตลาด จึงทำให้ได้รับความนิยมโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน

ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์

เครดิตภาพ wikipedia

ส่วนประกอบความอร่อยของข้าวแช่

ความอร่อยของข้าวแช่ นอกจากจะเป็นข้าวสวยขาวหุงสุกแช่ในน้ำลอยดอกไม้หอมแสนชื่นใจแล้ว เครื่องเคียงก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยทำให้หน้าร้อนในเดือนเมษายนผ่อนคลายหายเป็นปลิดทิ้งได้ดีทีเดียว อย่างลูกกะปิ ที่เป็นทีเด็ดของข้าวแช่ ที่ทำจากปลาช่อนย่าง ตะไคร้ กระชาย หัวหอม กะปิ หัวกะทิ แล้วนำมาปั้นเป็นลูกกลมๆ ขนาดพอดีคำ จากนั้นนำไปชุบไข่และแป้งสาลีทอดในกระทะจนสีเหลืองทอง ได้กลิ่นหอมคละคลุ้งชวนหิว นับเป็นสุดยอดเครื่องเคียงที่ต้องมีในข้าวแช่

ข้าวสวยหุงสุกลอยในน้ำดอกไม้หอมอบควันเทียน

ลูกกะปิ เครื่องเคียงที่ต้องมีในข้าวแช่

นอกจากลูกกะปิแล้ว ยังมีหอมแดงยัดไส้ พริกหยวกสอดไส้ หมูฝอยหรือเนื้อฝอย ไชโป๊วผัดไข่หรือไชโป๊วผัดหวานรสกลมกล่อม และผักสด กินคู่เคียงข้าวแช่คลายร้อนเข้ากันอย่างลงตัว

หอมแดงสอดไส้

พริกหยวกสอดไส้

ไชโป๊วผัดหวาน และหมูฝอย

วิธีการรับประทานข้าวแช่

ทำความรู้จักกับข้าวแช่กันมาพอสมควรแล้ว หลายคนคงอยากลองกินข้าวแช่อร่อยๆ ต้อนรับสงกรานต์กันแล้ว แต่มีอีกหลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับวิธีการรับประทานข้าวแช่และไม่เคยกินข้าวแช่มาก่อน วันนี้ OpenRice ขอเผยเคล็ดลับ วิธีกินข้าวแช่ให้อร่อยและถูกต้องให้เพื่อนๆ ได้ลองชิมกันค่ะ

1. ไม่ควรตักเครื่องเคียงมาใส่ลงในถ้วยข้าว เพราะจะทำให้ความคาวของเนื้อปลาและเครื่องปรุงต่างๆ ปะปนอยู่ในถ้วย ทำให้น้ำลอยดอกไม้มีกลิ่นคาวไม่หอมชื่นใจ

2. รับประทานเครื่องเคียงก่อน แล้วค่อยตักข้าว แล้วซดน้ำลอยดอกไม้ตามจะฟินสุดๆ คลายร้อนได้ดี

3. ลูกกะปิควรรับประทานคู่กับมะม่วงสดรสเปรี้ยวอมหวาน แนมกัน รสชาติเข้ากันดี

4. กระชายอ่อน รับประทานคู่กับพริกหยวกสอดไส้จะเพิ่มกลิ่นรสและความหอมให้กับเครื่องเคียงได้เป็นอย่างดี

เมษาหน้าร้อนนี้ คงจะไม่ร้อนกายร้อนใจอีกต่อไป เพราะมีเมนูเด็ดอย่างข้าวแช่ให้เราได้กินดับร้อน แล้วคุณล่ะ เตรียมพร้อมมาดับร้อนด้วยกันมั้ย ถ้าพร้อมแล้ว ก็ไปตะลุยชิมข้าวแช่ แล้วแชะมาแชร์กันหน่อยเร็ว

Keyword
ประวัติข้าวแช่
วิธีกินข้าวแช่
อาหารคลายร้อน
อาหารสงกรานต์
OpenRice TH Editor
Monthly chart
Youtuber推介▶️!泰國旅行必食!(持續更新)
7 Days Ago
2024🏵️亞洲50最佳餐廳 - 曼谷篇 (1-99名)
2024-04-09