เกร็ดความรู้เรื่องชาและTipsการชงชา
2013-03-11

เมื่อพูดถึงชา บางคนอาจจะนึกไปถึงชาอังกฤษ บางคนอาจจะนึกไปถึงชาจีน หรือชาญี่ปุ่น เพราะแท้จริงแล้วชามีนั้นมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก จากความแตกต่างหลายๆอย่างทั้งภูมิอากาศ ภูมิประเทศทำให้เกิดชาหลากหลายชนิด รวมไปถึงการนำใบชาต่างๆมาผสมกันให้เกิดรสสัมผัสที่แตกต่างและแปลกใหม่ ซึ่งการดื่มชาชงชายังแสดงออกถึงวัฒนธรรมของแต่ละประเทศได้ด้วย

วันนี้ OpenRice มีโอกาสไปเวิร์คช็อปกินขนม ชงชาที่ Peony Tea Lounge ร้านอาหารและขนมสไตล์อังกฤษ ที่มีจุดเด่นตรงที่มีชาหลากหลายชนิดกว่า 68 ชนิด ให้เราได้เลือกดื่มควบคู่ไปกับอาหารหรือขนมของทางร้านด้วย เวิร์คช็อปครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับชามากมายจากผู้เชี่ยวชาญ เพิ่งรู้นะว่าเรื่องของชามันมีเสน่ห์น่าค้นหาจริงๆค่ะ จน OpenRice ต้องขอนำความรู้ที่ได้มาบอกต่อเพื่อนๆกันด้วย

ประเภทของชา

ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าชาที่มีอยู่หลากหลายชนิดในทั่วโลกนี้ จริงๆแล้วสามารถแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ความแตกต่างอยู่ที่กรรมวิธีการผลิต อันได้แก่

1.ชาขาว ใบชาที่ถูกทิ้งให้สลด แต่ไม่ได้บ่ม จึงได้รสชาติอ่อนที่สุดและมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด

2. ชาเขียว ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลดและไม่ได้บ่ม ยังคงความเขียวสดเอาไว้ ทำให้ได้กลิ่นความเขียวสดของใบชา

3. ชาเหลือง ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลด และไม่ได้บ่ม แต่ทิ้งใบชาให้เป็นสีเหลือง ดื่มง่ายเป็นที่นิยมในครอบครัวโดยเฉพาะชาวจีน

4. ชาอู่หลง ใบชาที่ทิ้งให้สลด นวดและบ่มเล็กน้อย มีรสเข้ม

5. ชาดำ ใบชาที่ทิ้งให้สลด (อาจมีการนวดอย่างแรง) และผ่านการบ่มเต็มกระบวนการจากกรรมวิธีการทำให้แห้งและการหมัก ใบชาจะมีกลิ่นน้อย แต่เมื่อนำมาชงจะได้รสที่เข้ม ถือว่าเข้มที่สุด

6. ชาผูเอ่อ ชาที่ใช้เวลาหมักนานจนมีกลิ่นเฉพาะ จากมณฑลยูนนาน ประเทศจีน

 

วิธีการชงชา

พื้นฐานที่เหมือนกันในการชงชา คือ รินน้ำร้อนลงในใบชาแล้วทิ้งไว้ในระยะเวลาหนึ่ง ก่อนที่จะรินน้ำชาออกมาดื่มด่ำรสชาติของมัน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการชงชา คือ อุณหภูมิและระยะเวลาที่ใช้  ซึ่งชาแต่ละประเภทต้องการเวลาและอุณหภูมิที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้รสชาติที่พอเหมาะพอเจาะ

แก้วชงชามีลักษณะพิเศษคือมีรอยหยักตรงขอบแก้ว เพื่อกรองใบชาแบบหยาบ

กาใส่น้ำร้อนและช้อนสำหรับตักชิมน้ำชา

เทน้ำร้อนลงในแก้วที่ใส่ใบชาไว้แล้ว

หลังจากทิ้งไว้ระยะเวลาหนึ่ง รินน้ำชาออกใส่ถ้วยชา

ใช้ช้อนตักน้ำชาขึ้นมาชิม โดยให้อากาศเข้าไปพร้อมกันด้วย อาจมีเสียงดังเล็กน้อย ไม่ว่ากันค่ะ

ช้อนชิมชาดีไซน์ได้น่ารักเชียว

ตัวอย่างใบชาแห้ง (ชาเขียว)

ใบชาหลังจากการชงจะฟูขึ้น

น้ำชาที่ได้ออกมา

 

ชาขาว : อุณหภูมิน้ำ 90–95 °C  ระยะเวลา 1-2 นาที

ชาขาวที่เลือกมาให้ชิมชื่อว่า White Peony ได้น้ำชาสีเหลืองปานกลาง รสชาติที่สัมผัสได้คือ หอมชาเบาๆ รสไม่เข้มมาก ไม่ขม ดื่มได้เรื่อยๆ

ชาเขียว : อุณหภูมิน้ำ 70–80 °C  ระยะเวลา 1-2 นาที

ชาเขียวที่เลือกมาคือ Longjing  ได้น้ำชาสีเขียวอ่อนๆ แต่ถ้าทิ้งไว้นานกว่านี้จะมีสีเข้มขึ้น และรสที่ขมมากขึ้น กลิ่นหอมเหมือนใบไม้สีเขียวสด

ชาอู่หลง : ใช้น้ำอุณหภูมิสูงหรือน้ำเดือดจัด และต้องล้างใบชา 1-2 ครั้งก่อน ทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 1-2 นาที ใบชาอู่หลงสามารถชงซ้ำได้หลายครั้ง และแต่ละครั้งจะมีรสชาติที่แตกต่างกันออกไป

ชาอู่หลงที่เลือกมามี 2 ชนิด ชนิดแรกชื่อว่า Tie Guan Yin เป็นชาสุดยอดจากมณฑลฝูเจี้ยนของประเทศจีน  และ ชนิดที่ 2 ชื่อว่า Shui Xsien ชารสเข้ม กลิ่นแรง ที่ดื่มแล้วชุ่มคอ

ชาดำ : อุณหภูมิน้ำ 90–95 °C  ระยะเวลา 3 นาที

ด้วยกรรมวิธีต่างๆตอนที่ผลิตทำให้ชาดำเป็นชาที่มีความเข้มมากที่สุด และจากความเข้มนี้ชาดำจึงนิยมถูกนำมาผสมนมและน้ำตาลก่อนดื่ม ชาดำที่เลือกมาให้ชิมมี 4 ชนิดจาก 3 ประเทศ ได้แก่

  1. Darjeeling ชาจากประเทศอินเดีย และชื่อของชาก็คือชื่อเมืองอันเป็นต้นกำเนิดของชาชนิดนี้ด้วย ไม่นิยมนำมาผสมนมเพราะเป็นชาดำที่ไม่ถือว่าเข้มมากนัก
  2. Assam ชาอีกหนึ่งชนิดจากประเทศอินเดีย รัฐอัสสัม มีความเข้มมากกว่า Darjeeling สังเกตแค่สีของน้ำชาก็เห็นถึงความเข้มที่ต่างกันแล้ว
  3. Keemun ชาดำจากประเทศจีน ที่ยังคงรสชาติของความเป็นจีน แม้รสจะเข้มแต่พอสัมผัสลิ้น กับรู้สึกถึงความเบา
  4. English Breakfast เป็นชาที่ผสมเอาชาดำหลากหลายชนิดมารวมกัน เพื่อให้ได้ชาที่มีรสเข้ม ปลุกให้ตื่นในตอนเช้าสมชื่อ เพราะชาวอังกฤษชื่นชอบการดื่มชา ดังนั้นในมื้อเช้าจึงต้องการชาที่มีความเข้มสูง เพื่อความกระปรี้กระเปร่ารับวันใหม่

 

การจับคู่ชากับขนม

พอพูดถึงชาอาจจะนึกว่าแค่นั่งจิบชา เลือกชาชนิดที่ชอบแล้วดื่มไปเรื่อยๆก็เพียงพอ แต่จริงๆแล้วหากเรารู้จักการจับคู่ชากับขนมหรือว่าอาหารแล้วล่ะก็ การดื่มชาจะสนุกมากขึ้น แถมได้รับรู้ความรสชาติของชาหลากหลายชนิด เพราะการเลือกชาให้เข้ากับขนมที่มีรสชาติต่างกัน ความเหมาะสมลงตัวเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด เวิร์คช็อปในวันนี้ร้าน Peony Tea Lounge จับคู่ชากับขนมมาให้เราได้ชิมถึง 2 คู่ไปดูกันค่ะว่าเป็นอย่างไร

คู่แรก : ชาเขียวเซนฉะ กับ มาการองซากุระ

มาการองขนมรสหวานเมื่อจับคู่กับชาเขียวรสขมกลางๆ ทำให้มาการองไม่หวานจนเกินไป และชาเขียวก็ไม่ขมด้วย เป็นการจับคู่ที่ลงตัว เหมาะกันสุดๆ

 

คู่สอง : ชาดำ Darjeeling กับ สโคน

สโคนรสชาติมันเนย เพิ่มรสชาติด้วย clotted cream และแยม ตัดความเลี่ยนด้วยการจิบชาดำตามไปด้วย อืม...อร่อยเข้ากันจริงๆ

 

คู่สุดท้าย : ชา Royal Star กับ ลูกพีช (Royal Star Frappe)

คู่นี้เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของชา Royal Star ชาเขียวผสมชาอู่หลงและดอกไม้  ปั่นเย็นรวมกับลูกพีช รสชาติหวานอมเปรี้ยว หอมชาอ่อนๆ ดื่มแล้วสดชื่น เหมาะเป็นเครื่องดื่มตบท้ายมื้ออาหาร

 

ชาทางเลือกใหม่

นอกจากชาชนิดต่างๆแล้ว ยังมีชาที่นำใบชามาผสมกับผลไม้ ดอกไม้ เพื่อเพิ่มความหอมหรือรสชาติแปลกใหม่ให้กับชาด้วย ถือเป็นชาทางเลือกใหม่ที่น่าลิ้มลอง และยังได้รับความนิยมสำหรับคนที่รักการดื่มชาด้วย เรามารู้จักกับตัวอย่างชาผสมบางชนิดที่ทางร้านเลือกมาทำเวิร์คช็อปในวันนี้กันค่ะ

1. Lapsang Souchong ชาผสมของจีน ที่มีกลิ่นรมควันอันชัดเจนโดดเด่น

2. Earlgray Darjeeling ชาดำ Darjeeling จากอินเดียผสมกับผลเบอร์กาม็อท

3. Summer Song  ชาผสมดอกไม้และผลไม้ ที่มีจุดเด่นตรงกลิ่นเมลอน เอาใจสาวหวาน

4. Peony การผสมผสานกันอย่างลงตัวของชาเขียว ชาอู่หลง ราสเบอร์รี่ และดอกโบตั๋น

5. Trinitea ชาที่มีส่วนผสมของวานิลลาและรัม กลิ่นหอมละมุน สมกับที่เป็นชา Signature ของทางร้าน

6. Mary Rose ชาผสมกุหลาบและแอปเปิ้ล มีรสเปรี้ยวบางๆ และกลิ่นหอมเบาๆ

 

ชาสมุนไพรที่ไร้ซึ่งใบชา

อาจจะงงว่าถ้าไม่มีส่วนผสมของใบชาแล้วจะเรียกว่าชาได้อย่างไร แต่ชาในกลุ่มนี้คือชาที่ไม่มีคาเฟอีน จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้ที่อยากดื่มด่ำกับรสชาติของน้ำชาแต่ไม่พึงประสงค์คาเฟอีน เป็นการนำพืชและสมุนไพรมาตากหรืออบแห้งเพื่อให้มีคุณสมบัติเหมือนใบชาแห้ง คือสามารถนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มได้เหมือนชา

สิ่งสำคัญของการชงชาประเภทนี้ คือ ต้องใช้เวลาในการชงประมาณ 3-6 นาที เพราะรสชาติของชาประเภทนี้จะออกช้ากว่าชาประเภทอื่นๆที่เราพูดถึงกันไปแล้ว และเวลาชงเราจะใช้ที่กรองชาด้วย เพราะชาเหล่านี้จะมีเศษบางอย่างที่ละเอียดกว่าใบชา มาดูกันค่ะว่าวันนี้เราได้รู้จักกับชาชนิดไหนบ้าง

1. Luminare มีส่วนผสมของพืชจากแอฟริกา มะนาว และมิ้นท์

2. Peppermint ชาใบมิ้นท์ที่จิบแล้วมีรสเย็นของมิ้นท์เล็กๆ สำหรับคนรักมิ้นท์ตัวจริงต้องลอง

3. Sleeping Beauty มีส่วนผสมของพืชหลายชนิด และหนึ่งในนั้นคือดอกลาเวนเดอร์ ที่ช่วยให้หลับสบาย

4. Apple Mint ลงตัวเข้ากันตามชื่อ ส่วนผสมของแอปเปิ้ลอบแห้งและใบมิ้นท์  เปรี้ยวและหอมสดชื่น

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะเพื่อนๆ พอจะรู้จักชากันดีขึ้นหรือยัง จากเวิร์คช็อปนี้ OpenRice ได้ความรู้เกี่ยวกับชาเยอะเลยค่ะ ตามมาด้วยเทคนิคการชงชา แล้วยังสนุกกับการชิมชาที่ผสมกับดอกไม้และผลไม้หลายชนิด รวมทั้งการจับคู่ชากับขนมที่ทำให้การทานขนมกับชามีความหมายมากขึ้น เราอยากให้เพื่อนได้รับความรู้นี้ด้วยเช่นกัน เพื่อการดื่มชาที่อร่อยและสนุกขึ้นในครั้งต่อไปของเพื่อนๆไงล่ะคะ

 

ขอขอบคุณร้าน : Peony Tea Lounge ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลความรู้และสถานที่ในครั้งนี้ด้วยนะคะ

 

Keyword
ความรู้เรื่องชา
วิธีการชงชา
จับคู่ชากับขนม
ชาผสม
ชาสมุนไพร
ชาผลไม้
ประเภทของชา
OpenRice TH Editor
Monthly chart
曼谷最新地標One Bangkok 超過250間餐廳進駐!
2024-11-29
泰國米芝蓮2025⭐️36間星級餐廳名單出爐!
2024-11-28
送別2024!曼谷天台酒吧狂歡8選🍸
2024-11-12
公主殿下命名!正宗泰菜餐廳推介——白花樓
2024-11-25