ประวัติเทศกาลกินเจ
ใกล้เข้ามาอีกแล้วสำหรับ “เทศกาลถือศีลกินผัก” หรือที่หลายๆคนเรียกกันสั้นๆว่า “เทศกาลกินเจ” พอถึงช่วงเวลานี้ทีไรเหล่าคนไทยเชื้อสายจีนจำนวนไม่น้อย ก็เริ่มที่จะงดทานเนื้อสัตว์ และหันมารับประทานอาหารที่ทำจากผักหรือแป้ง แต่รู้หรือไม่ว่า เทศกาลกินเจนี้ มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงต้องงดทานเนื้อสัตว์ในช่วงเวลานี้ของทุกปีด้วย ไปหาคำตอบกันเลย
เทศกาลกินเจ – แท้จริงแล้วเป็นช่วงเวลาแห่งการไว้ทุกข์ 10 วัน แด่ คน 9 คน ซึ่งเป็นชาวฮั่น ที่ได้ทำการปฏิวัติต่อต้านพวกแมนจู แต่ไม่สำเร็จจึงถูกประหารชีวิตโดยการตัดคอ และโยนลงสู่แม่น้ำ หลังจากนั้นก็มีเจ้ามารับวิญญาณทั้ง 9 ไป ชาวจีนจึงยกย่องให้ชายทั้ง 9 เป็นเจ้าแห่งเทศกาลกินเจ เมื่อถึงเทศกาลกินเจ ก็คือการไว้ทุกข์ให้บุคคลทั้ง 9 คน ซึ่งเราเรียกกันว่า “เจ้า”
"เจ" ในภาษาจีนมีความหมายว่า "อุโบสถ" เป็นคำแปลทางพุทธศาสนา นิกายมหายาน การกินเจนั้นแต่เดิมหมายความถึง "การรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน" ตามแบบอย่างของพระพุทธศาสนา ปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารครบ 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ยังคงเรียกว่า "กินเจ" ซึ่งหมายถึงการรักษาศีล ปฏิบัติธรรมทั้งกาย วาจา ใจ ไม่ได้มีความหมายแค่การไม่รับประทานเนื้อสัตว์เท่านั้น นอกจากงดเนื้อสัตว์แล้วยังรวมทั้งการงดอาหารรสจัด งดผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และเครื่องเทศที่มีกลิ่นฉุนด้วย ดังนั้นใครที่ต้องการร่วมเทศกาลกินเจก็ควรที่จะศึกษาวิธีการกินเจให้ดีเสียก่อน ในช่วงเทศกาลกินเจ เราจะพบเห็นธงสีเหลืองและมีตัวอักษรสีแดง บ้างก็เป็นอักษรจีน บ้างก็เป็นอักษรไทยเขียนว่า “เจ” นั่นก็เพื่อเป็นการเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตน "ถือศีล-กินเจ" ได้ ตระหนักถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงระยะเวลา 9 วัน 9 คืน ระยะเวลาของเทศกาลกินเจ ถ้าดูจากปฏิทินของไทยจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี แต่ถ้านับจากปฏิทินจีน จะตรงกันทุกปีในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 เครดิตภาพ : อินเทอร์เน็ต