ทําไมกินไก่ถึงเป็นเก๊าท์
2016-05-23

“กินไก่มากๆ ระวังจะเป็นโรคเก๊าท์นะจ๊ะ”

                คำเตือนจากใครหลายคนที่มักจะพูดเมื่อเห็นคุณจะซื้อไก่ หรือเตือนให้ผู้สูงวัยลด ละ เลิก เมนูไก่ หรือเมนูสัตว์ปีกทุกชนิด เพราะเป็นบ่อเกิดของโรคเก๊าท์ ที่เมื่อเป็นแล้วจะปวดทรมานตามข้ออย่างแสนสาหัส

                หากกินไก่เป็นประจำจะทำให้เป็นเก๊าท์จริงหรือ...คำถามคาใจของคนรักไก่ เพราะเนื้อขาว ๆ นุ่ม ๆ นี้ ทั้งกินง่าย และอร่อย แถมทำได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะทอด ย่าง หรือต้ม ก็ล้ำอย่าบอกใคร แล้วจะให้ทิ้งไก่ไปรักอย่างอื่นคงตัดใจได้ยากแน่ ๆ วันนี้ OpenRice จึงขอไขความจริงให้รู้ไปเลยว่า ไก่เป็นตัวการของโรคเก๊าท์จริงหรือไม่

กินไก่กับโรคเก๊าท์

โรคเก๊าท์เกิดขึ้นได้อย่างไร

         โรคเก๊าท์ เป็นโรคข้ออักเสบเฉียบพลันอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากการความผิดปกติในการใช้สาร “พิวรีน” จนทำให้มีกรดยูริคสะสมมากกว่าปกติ แล้วตกผลึกในรูปของเกลือยูเรตหรือ Urate crystals สะสมตามข้อกระดูกต่าง ๆ แล้วเมื่อมันแตกออกก็เข้าไปแทงตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ ทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวม และเป็นโรคเก๊าท์ในที่สุด ซึ่งจะพบในผู้ชายมากถึง 80-90% และจะเริ่มเป็นตั้งแต่อายุระหว่าง 35-45 ปี ส่วนผู้หญิงจะพบว่าเป็นโรคเก๊าท์ในช่วงหลังจากที่หมดประจำเดือนไปแล้ว

         แต่บุคคลวัยไม่ถึง 30 ปีก็อย่าชะล่าใจไปเพราะคนอายุ 28 ปีเป็นโรคเก๊าท์ก็มีมาแล้ว เมื่อร่างกายไม่สามารถขับกรดยูริคได้อย่างคนปกติ หากใครรักที่จะกิน เนื้อไก่ เนื้อเป็ด เห็ด เอ็น เครื่องใน หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ต้องคอยตรวจเช็คกรดยูริคในร่างกายของคุณด้วย หากสูงเกินมาตรฐานนานเข้าหรือกรดลดลงช้าก็อาจเป็นอันตราย ถ้ามีอาการปวดเหมือนข้อเท้าแพลงแต่ไม่หายสักที ปวดตามข้อนิ้วมือแบบไม่รู้สาเหตุ แล้วหายไปเองใน 3-4 วัน ก็ควรต้องพบแพทย์และระวังเรื่องอาหารมากขึ้น แต่หากระดับกรดยูริคของคุณอยู่ในระดับปกติก็สนุกกับการกินได้ต่อไป แต่อย่างไรก็ต้องตรวจเช็คสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ

กินไก่กับโรคเก๊าท์

Cr.Pic: http://aarogyahomeopathy.com/diseases/gout-arthritis.aspx

ไก่กับเก๊าท์เกี่ยวกันอย่างไร

                เพราะไก่ และสัตว์ปีกทุกชนิดเป็นอาหารที่มีพิวรีนสูงระดับปานกลางนั่นเอง ซึ่งมีถึง 50-150 mg./100 g. ในทางการแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ที่เป็นเก๊าท์ หรือมีประวัติของพ่อแม่ ญาติ พี่น้อง เคยเป็นโรคนี้มาก่อน ให้หลีกเลี่ยง หรือลดเมนูไก่ และสัตว์ปีกลง แต่ถึงแม้คุณกำลังเป็นเก๊าท์อยู่ ก็สามารถกินสัตว์ปีกได้สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยงดกินบริเวณส่วนที่เป็นข้อต่อต่างๆ แต่ให้เลือกกินบริเวณอกไก่แทนจะดีกว่า ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นโรคเก๊าท์ หรือที่บ้านไม่มีประวัติของญาติเป็นโรคเก๊าท์ ยังคงกินเมนูไก่ และสัตว์ปีกได้อย่างปกติ โดยไม่ต้องกังวลว่า เมื่อกินแล้วจะทำให้เป็นโรคเก๊าท์หรือเปล่า เพราะไก่ หรือสัตว์ปีกไม่ได้เป็นตัวการทำให้เกิดโรคนี้ คุณจึงยังคงเพลิดเพลินกับเมนูสัตว์ปีกได้อย่างอิ่มหนำสำราญเช่นเดิม

กินไก่กับโรคเก๊าท์

อาหารอื่นๆ ที่คนเป็นเก๊าท์พึงระวัง

                นอกจากไก่ และสัตว์ปีกแล้ว ยังคงมีอาหารอีกหลายชนิดที่คนเป็นโรคเก๊าท์ควรระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาหารที่มีพิวรีนในปริมาณสูงมากกว่า 150 mg./100 g. เช่น แตงกวา ชะอม สะเดา กระถิน เห็ด เครื่องในสัตว์ทุกชนิด ปลาซาดีนในกระป๋อง ปลาดุก ปลาอินทรีย์ ปลาไส้ตัน ไข่ปลา หอย ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วเหลือง ที่สำคัญควรงดดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดอย่างเด็ดขาด เพราะสิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้อาการปวดอักเสบของโรคเก๊าท์กำเริบนั่นเอง

กินไก่กับโรคเก๊าท์

Cr.Pic: http://medianp.net/11-amazing-benefits-of-cucumbers/

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากคุณไม่ได้มีความเสี่ยงที่เป็นโรคเก๊าท์ก็ไม่ต้องกังวลใจว่า จะต้องงดกินไก่ หรือสัตว์ปีกหรือเปล่า เพราะเนื้อขาว ๆ นุ่ม ๆ ยังคงปลอดภัยสำหรับคุณเสมอ


เครดิตภาพ: aarogyahomeopathy.com/diseases/gout-arthritis.aspx l medianp.net/11-amazing-benefits-of-cucumbers/

OpenRicer: rattrattana

Keyword
กินไก่
โรคเก๊าท์
เก๊าท์
พิวรีน
กรดยูริค
OpenRice TH Editor
Monthly chart
曼谷最新地標One Bangkok 超過250間餐廳進駐!
2024-11-29
泰國米芝蓮2025⭐️36間星級餐廳名單出爐!
2024-11-28
公主殿下命名!正宗泰菜餐廳推介——白花樓
2024-11-25