มะม่วงแปดริ้ว 7 พันธุ์เด็ดคัดมาให้แล้ว!
2018-03-29

เข้าสู่หน้าเทศกาลมะม่วงแล้ว ของกินยอดฮิตในหน้านี้จะหนีข้าวเหนียวมะม่วงไปไม่ได้เลย หากพูดถึงมะม่วงถือว่ามีหลากหลายสายพันธุ์ซึ่งมีรสชาติแตกต่างกันออกไป ในประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะม่วงเพื่อขายทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศพื้นที่ใหญ่ๆ ที่หนึ่งอยู่ที่เมืองแปดริ้วหรือจังหวัดฉะเชิงเทรานั่นเอง ที่นั่นมีมะม่วงหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งมะม่วงพันธุ์โบราณและมะม่วงพันธุ์ใหม่ๆ รู้แบบนี้แล้ว OpenRice จึงขอนำความแตกต่างของมะม่วงแปดริ้วพันธุ์ต่างๆ มาฝากกัน

มะม่วง ถือเป็นผลไม้ขึ้นชื่อในเรื่องผลไม้ส่งออกของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ย้อนกลับไปเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 มะม่วงมีมากกว่า 50 สายพันธุ์และรู้จักกันมายาวนาน ซึ่งในปัจจุบันพื้นที่ในประเทศไทยที่ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออกก็คือจังหวัดฉะเชิงเทรา ฃหรือเมืองแปดริ้วที่หลายคนรู้จักดี ที่นั่นมีชาวสวนปลูกมะม่วงเพื่อการขายและส่งออกมากกว่า 11 อำเภอ เนื่องจากมีสภาพดิน น้ำ และอากาศที่ดี จึงมีผลผลิตที่ดีรสชาติอร่อย ดังนั้น มะม่วงแปดริ้ว จึงเป็นที่นิยมกันมากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมะม่วงแปดริ้ว มีสายพันธุ์ที่โด่งดังอยู่หลายสายพันธุ์ ดังนี้

มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์สี่

มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์สี่ นับเป็นมะม่วงสุกที่เป็นที่นิยมมากในประเทศไทย เพราะเป็นมะม่วงสุกที่มีความหอมหวานเฉพาะตัว ผลมะม่วงมีลักษณะผิวนวล ผลกลมรี ยาว ปลายย้วยเล็กน้อย ขณะที่สุกเนื้อเยอะ สีเหลืองอมส้มนิดๆ ได้รับความนิยมมากในท้องตลาด เพราะผลมีขนาดพอเหมาะ และรสชาติอร่อย

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง

มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เป็นหนึ่งในพันธุ์มะม่วงที่อยู่ในความต้องการของตลาดต่างประเทศ ต้นกำเนิดของมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเป็นการเอาเมล็ดของมะม่วงน้ำดอกไม้พระประแดงมาเพาะเป็นต้นกล้าแล้วปลูก ใช้เวลาเพียง 3-4 เดือน ก็จะได้ผลสีเหลืองอ่อนตลอดทั้งผล มีลักษณะผลกลมรี ทรงผลสวย เมล็ดกลีบบาง เนื้อเยอะ ไม่มีเสี้ยน และรสชาติหวานหอม 

มะม่วงมหาชนก

มะม่วงมหาชนก คือพันธุ์มะม่วงที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างพันธุ์ซันเซทกับพันธุ์หนังกลางวันของไทย เกิดเป็นมะม่วงพันธุ์ใหม่ จึงตั้งชื่อว่า “มหาชนก” เพิ่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งมะม่วงพันธุ์มหาชนกนี้มีจุดเด่นคือ ผลมีขนาดใหญ่ รูปทรงยาว เปลือกหนา ผลดิบจะเป็นสีเขียว รสเปรี้ยว เมื่อผลสุกจะมีผิวสีเหลืองทองจนถึงสีแดงทั้งผล มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื้อแน่น เปลือกหนา เมล็ดลีบบาง รสชาติหวานอร่อยติดใจ

มะม่วงมันเดือนเก้า (ทวายเดือนเก้า)

มะม่วงมันเดือนเก้า หรือ ทวายเดือนเก้า เป็นมะม่วงพันธุ์หวาย คำว่าทวาย หมายถึงพันธุ์ที่สามารถออกผลให้เรากินได้ตลอดทั้งปี มะม่วงพันธุ์นี้จะออกผลดีในเดือนเก้า มะม่วงมันเดือนเก้า หรือทวายเดือนเก้า มีลักษณะผลใหญ่กว่ามะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ ผลดิบมีรสชาติเปรี้ยว เมื่อแก่เต็มที่จะกลายเป็นมะม่วงมัน รสชาติมันอมหวาน มีรสเปรี้ยวผสมอยู่ด้วย

มะม่วงขายตึก

มะม่วงขายตึก เป็นมะม่วงสายพันธุ์โบราณจัดอยู่ในกลุ่มมะม่วงมันหรือมะม่วงดิบชนิดหนึ่ง รสชาติอร่อยจนเปรียบเปรยกันว่า อร่อยจนต้องขายบ้านขายตึกเพื่อมาซื้อกิน มะม่วงขายตึกมีผลรูปกลมรี คล้ายผลมะม่วงมันหรือมะม่วงแรด แต่มีขนาดใหญ่กว่า ผลดิบมีสีเขียว รสชาติหวานมันปนเปรี้ยวนิดๆ กรอบเหมือนมะม่วงมัน เนื้อผลเยอะ ผลสุกมีสีเหลืองขมิ้นแม้ยังไม่แก่จัด ไม่มีเสี้ยน เมล็ดเล็กลีบ รสชาติอร่อย 

มะม่วงเขียวเสวย 

ราชินีแห่งมะม่วงไทย ต้องยกให้พันธุ์นี้เลย มะม่วงเขียวเสวย เป็นมะม่วงที่นิยมกันมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ นิยมกินผลดิบหรือผลแก่เป็นส่วนใหญ่ เพราะผลจะมีสีขาวขุ่นหรืออมครีมนิดๆ เนื้อแน่น มีความกรอบ และมีรสหวานมัน บอกได้เลยว่า ถ้านึกถึงมะม่วง จะต้องมีพันธุ์เขียวเสวยเป็นหนึ่งในความอยากกินเลยทีเดียว  

มะม่วงแรด

มาถึงมะม่วงพันธุ์สุดท้าย ที่เป็นพันธุ์ไทยแท้ๆ นั่นคือ มะม่วงแรด เหตุที่ชื่อมะม่วงแรดเป็นเพราะ ตรงใกล้ขั้วของผลจะมีติ่งยื่นออกมาคล้ายกับนอแรด มะม่วงแรดมีผลเป็นรูปไข่ กลม ปลายผลงอมแหลม ผิวเปลือกสีเขียวเข้มหนา เนื้อมีสีเหลืองอมเขียว แต่ผิวสัมผัสจะหยาบและมีเสี้ยน เมื่อโตเต็มที่แล้วจะได้รสเปรี้ยวจัด แต่สุกไปจะมีรสจืด

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นมะม่วงแปดริ้วทั้ง 7 สายพันธุ์ที่ OpenRice เอามาฝากกันในเทศกาลมะม่วงปีนี้ หากครั้งต่อไปได้กินมะม่วงคราใดก็จะได้ฟินและสนุกกับการลิ้มลองมะม่วงหลายสายพันธุ์ แถมเล่าให้เพื่อนๆ ฟังได้ด้วยว่ามะม่วงบ้านเราอร่อยเด็ดไม่แพ้ผลไม้เมืองนอกนะจ๊ะ


ดูบทความ Food Tips อื่นๆ ได้ที่นี่

Keyword
มะม่วงแปดริ้ว
เทศกาลมะม่วง
มะม่วงน้ำดอกไม้
มะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์สี่
มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง
มะม่วงมหาชนก
มะม่วงมันเดือนเก้า
มะม่วงทวายเดือนเก้า
มะม่วงขายตึก
มะม่วงเขียวเสวย
มะม่วงแรด
จังหวัดฉะเชิงเทรา
OpenRice TH Editor
Monthly chart
Youtuber推介▶️!泰國旅行必食!(持續更新)
2024-04-10
2024🏵️亞洲50最佳餐廳 - 曼谷篇 (1-99名)
2024-04-09