...8 วิธีเรียกไลค์ด้วยการถ่ายรูปอาหารให้น่ากินสุดๆ...
ต้องยอมรับว่าสมัยนี้การออกไปกินข้าวนอกบ้านและได้ถ่ายรูปอาหารก่อนกินกลายเป็นเรื่องปกติที่ใครต่างก็ทำกัน ยิ่งร้านไหนจัดแต่งจานหรือหน้าตาอาหารออกมาได้อย่างน่ากินแล้ว ก็ยิ่งอดไม่ได้ที่จะหยิบมือถือหรือกล้องถ่ายรูปออกมาถ่ายภาพอาหารเก็บไว้แชร์ลงโซเชียล หากรูปอาหารที่ลงนั้นน่ากินและยั่วน้ำลายมากเท่าไหร่ ก็ไม่พลาดที่จะได้รับไลค์อย่างถล่มทลาย แต่เคยเป็นมั้ย? อาหารที่เห็นน่ากินมาก แต่ถ่ายรูปออกมาไม่น่ากินเอาซะเลย เรามีเทคนิคถ่ายรูปอาหารให้ออกมาน่ากินมาฝากกัน ลองทำตาม 8 วิธีนี้ รับรองรูปอาหารของคุณแชร์เมื่อไหร่โดนกดไลค์เมื่อนั้น
แสงธรรมชาติสิสวยแน่
แฟลชถือเป็นสิ่งต้องห้ามยามถ่ายภาพอาหารด้วยมือถือ ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยง และเลือกเข้าใกล้แสงธรรมชาติ อย่างการนั่งริมหน้าต่างแทน
อย่ารอช้า
ระยะเวลาที่ดีที่สุดในการถ่ายภาพอาหารคือภายใน 10 นาที หลังจากอาหารมาเสิร์ฟ หากพลาด "ช่วงเวลาน่าหม่ำ" นี้ไปแล้ว ภาพอาหารที่ได้จะออกมาดูชืด ไม่น่ากินเหมือนตอนเสิร์ฟใหม่ๆ
ถ่ายภาพมุมบนเพิ่มมุมมอง
การถ่ายภาพมุมบนทำให้คุณสามารถถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ทั้งของประดับโต๊ะ อุปกรณ์การกิน และอื่นๆ ดังนั้นการถ่ายภาพมุมบนจึงเหมาะกับอาหารญี่ปุ่นที่จัดมาเป็นเซ็ท หรือพวกบุฟเฟ่ต์สุกี้-ชาบู
ลองถ่ายมุมต่ำดูบ้าง
เราอาจชินกับการถ่ายรูปอาหารในระดับสายตา แต่ลองถ่ายในมุมต่ำดูสิ คุณจะได้ภาพอาหารมีดูมีมิติสวยงามยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่สูงหลายชั้นอย่างแฮมเบอร์เกอร์ แซนด์วิช และเค้ก
ถ่ายแบบมีระยะใกล้ไกล
เคยสังเกตไหมว่ารูปอาหารน่ากินส่วนใหญ่มักเป็นรูปแบบหน้าชัดหลังเบลอ ลองเน้นการโฟกัสที่อาหารในระยะใกล้ แล้วทิ้งพื้นที่ให้มีสเปซโดยรอบระยะไกลแบบเบลอๆ จะช่วยให้รูปอาหารของคุณดูน่ากินขึ้นอีกระดับ
"โคลส-อัพ" คือไม้เด็ด
โคลส-อัพถือเป็นเทคนิคที่ดีในการถ่ายภาพอาหารให้น่ากิน เช่น ถ่ายเนื้อวากิว ให้เห็นลวดลายมันแทรกสวยงาม หรือเห็นเนื้อครัวซองท์ที่มีหลากหลายชั้น ลองยื่นเลนส์เข้าไปใกล้ๆ อาหาร เพื่อให้ได้ภาพโคลส-อัพสวยๆ ดู (แต่อย่าเผลอถ่ายใกล้เกินไปจนได้ภาพเบลอๆ มาแทน)
เรียบง่ายแต่สวยงาม
เคลียร์โต๊ะเพื่อการจัดวางคอมโพซิชั่นที่เรียบง่ายไม่รกรุงรัง กฎข้อแรกในการถ่ายภาพอาหารก็คือความเรียบง่าย จำไว้ว่าน้อยคือมาก!
รู้จักแบ่งสัดส่วนภาพ
ลองปรับใช้โหมดตาราง 9 ช่องในกล้องของคุณดู แล้ววางวัตถุที่ต้องการลงบนจุดตัดใดจุดหนึ่งใน 4 จุดในเฟรม
เพื่อสร้างความสมดุลและแบ่งสัดส่วนภาพอย่างลงตัว พื้นที่ที่เหลือจะสร้างบรรยากาศภาพให้โดดเด่นยิ่งขึ้น
เทคนิคนี้เหมาะกับการถ่ายภาพเครื่องดื่มอย่างกาแฟเป็นต้น
อ้างอิง : www.opensnap.com/th/bangkok/phototech