ว่าด้วยเรื่องของรสชาติ
2017-02-15

...ลิ้นผู้ทำหน้าที่หลักในการรับรู้รสชาติ...

รสชาติของอาหารที่เรารู้จักคุ้นเคยกันดี ได้แก่ รสหวาน รสเค็ม รสเผ็ด รสเปรี้ยว หรือรสขม ซึ่งเป็นรสชาติที่รับรู้ได้ผ่านต่อมรับรสที่ลิ้นของเรา หากอาหารมีรสชาติที่กลมกล่อมลงตัวอาหารจานนั้นก็เรียกได้ว่าอร่อย แต่จะมีรสชาติบางประเภทที่ขอจัดว่าไม่อร่อยหรือไม่ถูกปาก จนต้องมีการบัญญัติคำขึ้นมาใช้เรียกรสชาติที่ไม่อร่อยเหล่านี้ด้วยเช่นกัน มาเรียนรู้คำศัพท์เหล่านี้ดูบ้าง เผื่อจะต้องใช้ในการบรรยายรสชาติอาหาร เราจะใช้เลือกใช้ได้ถูกที่ถูกเวลา สมกับที่เราเป็นนักกินผู้ชื่นชอบการรับประทานอาหารเป็นชีวิตจิตใจ

รสปร่า – เป็นลักษณะของรสที่ไม่กลมกล่อม แต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นรสอะไรบอกไม่ถูก อาจเป็นเพราะใส่เครื่องปรุงไม่ถูกสัดส่วน จนต้องพูดว่า “อาหารจานนี้รสชาติปร่ายังไงไม่รู้”

รสกร่อย – เป็นรสชาติที่ไม่จืดและไม่หวาน มีรสเค็มปนอยู่เล็กน้อย  เช่น น้ำรสกร่อย

รสฝาด – เป็นรสชาติที่กินแล้วฝืดคอ ทำให้น้ำลายแห้ง เมื่อกินอาหารรสฝาดจะทำให้อยากดื่มน้ำ เช่น มะขามเทศรสฝาด

รสขื่น – เป็นรสที่ทำให้ฝืดคอ ไม่ชวนให้รับประทาน เช่น หน่อไม้มีรสขื่น

รสเฝื่อน – เป็นรสชาติผสมระหว่างรสฝาดและรสขื่น เช่น น้ำบาดาลบ่อนี้มีรสเฝื่อน ไม่เหมาะสำหรับใช้ดื่ม

รสชืด – หมายถึงไม่มีรสชาติ มักใช้ร่วมกับคำว่า จืด กลายเป็น จืดชืด เช่น อาหารจานนี้ทิ้งไว้นานจนจืดชืด

 


Cr.Pic: www.il.mahidol.ac.th/e-media/nervous/3_9.htm

โดยปกติบนลิ้นของเรามีตุ่มรับรสหวาน เค็ม เปรี้ยว และขม โดยแบ่งเป็น 4 ส่วนใหญ่ ได้แก่

ส่วนปลายลิ้น – รับรสหวาน

ส่วนปลายลิ้นและด้านข้างของลิ้น – รับรสเค็ม

ส่วนด้านข้างทั้ง 2 ของลิ้น – รับรสเปรี้ยว

ส่วนโคนลิ้น – รับรสขม

หากลิ้นของเราสามารถรับรสชาติได้อย่างถูกต้องก็จะสามารถรับรู้รสชาติของอาหารแต่ละจานได้ และสามารถรับรู้ได้ว่าอาหารจานนั้นๆ มีรสชาติอร่อยหรือไม่อร่อย โดยแต่ละคนก็จะชื่นชอบรสชาติอาหารที่แตกต่างกัน บางคนที่ชอบรสหวานก็จะบอกว่าอาหารที่มีรสหวานนำอร่อยก็เป็นได้

บางครั้งเมื่อร่างกายของเรามีอาการผิดปกติหรือไม่สบาย จนทำให้การรับรู้รสชาติผิดปกติ เช่น รู้สึกขมคอ, อาหารไม่มีรสชาติ, ปากรู้สึกหวาน, ปากรู้สึกฝาด ฯลฯ ไม่เกิดจากต่อมรับรสที่ผิดปกติเพียงเท่านั้น แต่เป็นการสะท้อนความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งอาจมาจากการทำงานของระบบต่างๆ ที่มีปัญหา หากมีอาการเหล่านี้หรือมีอาการรับรู้รสชาติผิดปกติร่วมกับอาการอื่นๆ ของร่างกาย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี เราจะได้กลับมารับประทานของอร่อยๆ กันต่อไป


อ้างอิง: https://health.kapook.com/view9652.html l www.moeradiothai.net/web/news_etc/detail/25

คีย์เวิร์ด
รสชาติ
การรับรู้รส
ลิ้น
ตุ่มรับรส
OpenRice TH Editor