หัวกะทิ-หางกะทิ เป็นคำที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ สำหรับคนที่ชอบทำอาหาร แต่คนทั่วไปฟังแล้วอาจจะยังงุนงงว่าเอ๊ะกะทินี่มีแบ่งหัวแบ่งหางด้วยหรือ แล้วแบ่งไปเพื่ออะไร กะทิ 2 ส่วนนี้ต่างกันยังไงแน่ วันนี้ OpenRice มีคำตอบให้ค่ะ
กะทิ คือน้ำสีขาวข้น รสหอมมัน ที่คั้นออกมาจากมะพร้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะพร้าวแก่จะเหมาะกับการนำมาขูดเป็นกะทิอย่างมาก วิธีการคั้นกะทิอย่างง่ายๆก็คือขูดมะพร้าวแก่เป็นเส้นเล็กๆ (จะใช้ที่ขูดธรรมดาหรือกระต่ายขูดมะพร้าวแบบสาวมะหมี่ในเรื่องแม่เบี้ยก็ตามแต่จะสะดวก) นำไปขยำกับน้ำอุ่นเล็กน้อย บีบคั้นเอาความมันของมะพร้าวออกมาให้หมด แล้วจึงกรองด้วยกระชอน จากนั้นนำมะพร้าวที่บีบแล้วมาเติมน้ำอุ่นเพิ่มและคั้นกะทิต่อได้อีก แต่ความเข้มข้นของน้ำกะทิที่ได้จะลดลงไปตามลำดับขั้น
หัวกะทิ คือน้ำกะทิที่ได้จากการคั้นมะพร้าวครั้งแรก ซึ่งผสมน้ำเพียงเล็กน้อยหรือบางที่อาจไม่ผสมเลย เป็นกะทิที่มีความเข้มข้นสูงที่สุด นิยมใช้หยอดหน้าขนมหรืออาหารต่างๆ
หางกะทิ นั้นได้จากการคั้นมะพร้าวครั้งที่ 2-3 มีปริมาณน้ำผสมอยู่มากกว่า ความเข้มข้นของกะทิจึงลดลง นิยมนำไปผสมในขนม เช่น แกงบวด สาคู แกงเผ็ดชนิดต่างๆ เป็นต้น
กะทิสำเร็จรูปแบบกล่อง หรือ กะทิกระป๋อง สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ไปจ่ายตลาดขูดมะพร้าวมานั่งคั้นกะทิเอง อาจมีคำถามว่าถ้าเราใช้กะทิสำเร็จที่วางขายอยู่ทั่วไปแล้ว เราจะแยกหัวกะทิ-หางกะทิได้อย่างไร คำตอบก็คือ กะทิกล่อง หรือ กะทิกระป๋อง 100% คือหัวกะทิ ดังนั้นถ้าเราจะใช้หางกะทิ ก็ให้นำกะทิสำเร็จรูปเหล่านี้ไปผสมน้ำในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 เท่านี้ก็ได้หางกะทิไปปรุงอาหารแล้ว
กะทิแตกมัน คำนี้นับเป็นอีกคำที่พบบ่อยในการทำอาหารคาวแบบไทย กะทิแตกมันคือการนำกะทิไปตั้งไฟจนเดือด ไขมันในกะทิแยกตัวลอยขึ้นมาเป็นน้ำมันบนผิว ส่วนมากนิยมใช้กับการทำแกงเผ็ด เช่น แกงเขียวหวาน แกงแดง แบบที่เราจะได้เห็นน้ำมันผสมเครื่องเทศสีเขียวและแดงลอยอยู่ด้านบนดูน่ากินนั่นเอง
ประโยชน์ของกะทิ กะทิมีสารอาหารที่มีประโยชน์หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน แร่ธาตุ อิเล็กโทรไลท์ โพแทสเซียม แคลเซียม และคลอไรด์ไขมันอิ่มตัว
กะทิและน้ำมันมะพร้าวมีไขมันอิ่มตัว แต่เป็นกรดไขมันที่มีขนาดปานกลาง ย่อยง่าย เคลื่อนย้ายสะดวก เมื่อกินแล้วจะเข้าไปเผาผลาญเป็นพลังงานในตับ โดยไม่สะสมเป็นไขมันเหมือนไขมันไม่อิ่มตัวโมเลกุลใหญ่ ในกะทิยังมีกรดลอริคซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต้านไวรัส ป้องกันแบคทีเรีย จุลินทรีย์ และเชื้อรา ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้กะทิยังกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยเผาผลาญสิ่งที่กินให้เปลี่ยนเป็นพลังงานแทนที่จะสะสมเป็นไขมัน จนบางที่ถึงกับกล่าวว่ากะทิช่วยลดน้ำหนักได้เลยทีเดียว
ถึงจะมีประโยชน์มากมายแบบนี้แต่อย่าลืมว่ากะทิมีไขมัน และอาหารหรือของหวานที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบมักมีน้ำตาลสูง การบริโภคกะทิและอาหารใส่กะทิจำนวนมากเกินพอดีจึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรบริโภคแต่พอเหมาะและออกกำลังกายเป็นประจำควบคู่กันไปด้วย
Credit: pim.in.th, easycookingmenu.com, sanook.com
Picture credit: stylecraze.com, draxe.com, chasorganics.com