ตำนานขนมไหว้พระจันทร์
2012-09-13

ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นขนมที่มีต้นตำรับมาจากประเทศจีน ชื่อที่เรียกในภาษาจีนกลางคือ “เยว่ปิ่ง”  “เยว่” หมายถึง พระจันทร์ และ “ปิ่ง” หมายถึง ขนมเปี๊ยะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นสิริมงคล ความปรารถนาดี และความสามัคคี เพราะในเทศกาลนี้ทุกคนในครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา นั่งกินขนมชมพระจันทร์ไปด้วยกัน

แต่เดิม ขนมไหว้พระจันทร์ มีชื่อเรียกว่า “หูปิ่ง” หมายถึง ขนมเปี๊ยะวอลนัท เป็นขนมอบของจีนทำจากงาและวอลนัท ภายหลังเปลี่ยนเป็น “เยว่ปิ่ง” ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนชื่อนั้นมีเรื่องเล่าว่า ในคืนวันไหว้พระจันทร์ปีหนึ่ง ถังเสวียนจงฮ่องเต้ปรารภออกมาว่า ชื่อ “หูปิ่ง” ไม่ไพเราะ ขณะนั้นหยางกุ้ยเฟย ซึ่งเป็นหนึ่งในสี่อัครมเหสีของพระองค์ ได้นั่งชมจันทร์อยู่เคียงข้างพระองค์ก็เปรยขึ้นมาว่า “เยว่ปิ่ง” ซึ่งหมายถึง  ขนมเปี๊ยะพระจันทร์ ตั้งแต่นั้นจึงใช้ชื่อนี้เรียกแทน "หูปิ่ง" เรื่อยมา

ตำนานขนมไหว้พระจันทร์นั้น ยังมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการกู้ชาติของชนชาติจีนด้วย เล่าว่า ราว 700 ปีก่อน ชาวมองโกลโดยการนำของกุบไลข่าน ได้รุกรานเข้าแผ่นดินจีน สามารถโค่นล้มและยึดครองประเทศจีนได้สำเร็จ และขึ้นปกครองประเทศจีนเป็นระยะเวลากว่า 80 ปี จนถึงช่วงที่ราชสำนักอ่อนแอ มีชาวจีนหลายกลุ่มคิดก่อการกบฎเพื่อกอบกู้แผ่นดินกลับคืนมา แต่การจะเรียกระดมพลนั้นกระทำได้ยาก จึงมีผู้คิดแผนการรวบรวมพลให้ก่อการขึ้นพร้อมกัน เนื่องจากชาวมองโกลไม่นิยมกิน ขนมเปี๊ยะพระจันทร์ จึงอาศัยโอกาสนี้ทำขนมเปี๊ยะพระจันทร์ที่มีไส้หนา แล้วสอดไส้กระดาษที่เขียนข้อความไว้ว่า “15 ค่ำเดือน 8 สังหารมองโกล” แล้วนำออกแจกจ่ายให้กับชาวจีนทั้งหลาย  เมื่อถึงคืน 15 ค่ำ เดือน 8 กลุ่มชาวจีนทั้งหลายก็ลงมือก่อการโดยพร้อมเพรียงกัน และสามารถโค่นล้มมองโกลลงได้  นับจากนั้นเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ที่มีการไหว้ขนมเปี๊ยะพระจันทร์จึงเป็นงานฉลองระดับชาติ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น ส่วนในประเทศไทยเรียกชื่อขนมนี้ว่า “ขนมไหว้พระจันทร์” ตามตำนานที่เล่าสืบต่อกันมานี้

​เครดิตภาพ : อินเทอร์เน็ต

ขนมไหว้พระจันทร์ในประเทศไทย

ในประเทศไทย ศิลปะการทำขนมแบบชาวจีนนี้ถูกนำเข้ามาโดยชาวจีนอพยพกว่า 100 ปีมาแล้ว ขนมไหว้พระจันทร์ของจีนดั้งเดิมนั้นมีส่วนประกอบ เช่น ถั่วแดง ถั่วจีน5ชนิด  เม็ดบัว เป็นต้น ในประเทศไทยก็มีส่วนประกอบที่แตกต่างออกไป เช่น การนำผลไม้ที่เป็นที่นิยมอย่างทุเรียนมากวนแล้วทำเป็นไส้ขนม หรือใส่วัตถุดิบอื่นๆเพิ่มเติม เช่น ไข่แดงเค็ม และเมล็ดแตงโมเป็นต้น และในปัจจุบันก็มีภัตตาคารร้านอาหารจีนมากมายที่คิดค้นและพัฒนาสูตรของไส้รูปแบบใหม่ หลากหลายรสชาติเลยทีเดียว

► รวมร้านขนมไหว้พระจันทร์

關鍵字
ตำนานขนมไหว้พระจันทร์
ขนมไหว้พระจันทร์
ขนมเปี๊ยะพระจันทร์
เยว่ปิ่ง
ไหว้พระจันทร์ 2560
OpenRice TH Editor