ใครเคยกินอาหาร “หมดอายุ” ยกมือขึ้น!!!
2016-06-01

...อาหารหมดอายุแล้วยังกินได้หรือไม่ ต้องไขข้อสงสัย...

ซื้อเบเกอรี่ ขนมปัง และอาหารอร่อย ๆ มาทีไรกินไม่เคยทัน หมดอายุก่อนทุกที แต่ก็ไม่เห็นเสียนี่นา จะกินดีมั๊ยนะ? หลายคนคงสงสัยว่า ควรจัดการอย่างไรกับอาหารที่ระบุบนฉลากว่ามีวันหมดอายุวันนี้? จะทิ้งหรือจะเก็บไว้ก่อนดี? จริง ๆ แล้ว มันหมดอายุเวลาไหนเช้าหรือเย็น? แล้วถ้ากินไปแล้วจะท้องเสียมั๊ย? หลายคำถามที่ค้างคาใจ วันนี้ OpenRice มาไขปัญหากันค่ะ

ทำความรู้จักกับคำว่า “หมดอายุ” และ “ควรบริโภคก่อน”

อาหารหมดอายุ

Cr.Pic: thaihealth.or.th

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า “หมดอายุ” หมายถึง วันที่อาหารเสื่อมคุณภาพ อาจจะเสีย หรือกินไม่ได้แล้ว ส่วน “ควรบริโภคก่อน” หมายถึง การระบุเวลาที่เราควรบริโภคอาหารนั้นก่อน เพราะหลังจากนั้นอาหารจะมีคุณภาพด้อยลง ทั้งรสชาติ คุณค่าทางโภชนาการต่าง ๆ แต่ยังสามารถกินได้ ขึ้นอยู่กับชนิดอาหารและการเก็บรักษา ส่วนใหญ่ “ควรบริโภคก่อน” จะใช้กับอาหารที่เก็บได้ไม่นานมาก เช่น อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กาแฟผง เป็นต้น


อาหารประเภทไหนกินได้ หลังวัน “หมดอายุ”

อาหารแต่ละชนิด ผ่านกรรมวิธีการผลิตที่แตกต่างกัน อาหารสดบางชนิดใส่วัตถุกันเสีย เพื่อยืดอายุอาหาร บางชนิดใช้วิธีการถนอมอาหารแบบต่าง ๆ บางชนิดใช้การแต่งกลิ่นและสีช่วย เราจึงควรรู้ทันผู้ผลิตด้วยการสังเกตและทำความเข้าใจธรรมชาติของอาหารประเภทนั้น ๆ เช่น

- โยเกิร์ต คือ นมที่ผ่านกรรมวิธีทำให้บูดด้วยจุลินทรีย์ ดังนั้นจึงสบายใจได้ว่า สามารถกินโยเกิร์ตได้ แม้จะผ่านวันหมดอายุไปแล้วก็ตาม

อาหารหมดอายุ โยเกิร์ต

- ช็อกโกแลต ถ้าอยู่ในตู้เย็น แบบไม่เคยละลาย จะสามารถเก็บได้นานแบบไม่เน่าเสีย

- ไข่ ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศา จะเก็บไว้ได้นาน 3- 5 สัปดาห์

อาหารหมดอายุ ไข่ไก่

Cr.Pic: foodnetworksolution

- ซีเรียล ถ้าเก็บไว้ในตู้เย็น แบบยังไม่เปิดซอง จะยืดอายุได้อีก 6 เดือน ถึง 1 ปี หลังวันหมดอายุ

- ขนมปัง สามารถอยู่นอกตู้เย็นได้นาน 2-3 วัน แต่ถ้าแช่ช่องแข็ง จะอยู่ได้นานถึง 2 สัปดาห์ แต่ต้องสังเกตความชื้นซึ่งจะทำให้เกิดเชื้อราก่อนวันหมดอายุ

อาหารหมดอายุ ขนมปัง

- อาหารแช่แข็งบางชนิด เมื่อหมดอายุ คุณค่าทางอาหารอาจจะสูญเสียไป แต่สามารถกินได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้เปิด และถูกเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศา แบบไม่ผ่านการละลายน้ำแข็งมาก่อน


ฉลาดเลือก เลือกดูที่ฉลาก

ฉลากอาหารเป็นคู่มืออาหารฉบับย่อ ที่จะบอกรายละเอียดต่าง ๆ ของอาหารชนิดนั้น เพื่อให้เรารู้ว่า เรากำลังจะซื้ออะไร ตามที่เราต้องการหรือไม่ โดยต้องมีการแสดงข้อมูลเหล่านี้

Cr.Pic: thaihealth.or.th

1. ชื่ออาหาร

2. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต หรือผู้แบ่งบรรจุ

3. ปริมาณสุทธิของผลิตภัณฑ์

4. วัน เดือน ปี ที่ผลิต / หมดอายุ / ควรบริโภคก่อน

ในส่วนของ “วันผลิต” “วันหมดอายุ”และ “ควรบริโภคก่อน” ผู้ผลิตจะเลือกใช้รูปแบบการเรียงลำดับที่ต่างกัน เช่น มีแค่ เดือน/ปี หรือ ปี/เดือน/วัน หรือ วัน/เดือน/ปี  และมีการใช้คำหลายแบบ ที่มีความหมายเดียวกัน เช่น

Expiry Date / Expiration Date / EXP / EXD คือ วันที่หมดอายุ

Best Before / Best Before End / BB / BBE คือ ควรบริโภคก่อนวันที่ 

Manufacturing Date / Manufactured Date / MFG / MFD คือ วันที่ผลิต

นอกจากข้อสังเกต บนฉลากผลิตภัณฑ์ตรงคำว่า “วันหมดอายุ” และ “ควรบริโภคก่อน” สิ่งสำคัญอีกสิ่งก็คือ สังเกตลักษณะทั่วไปที่เรามองเห็นจากอาหารที่จะหยิบทานขณะนั้น ๆ ด้วย ว่า มีกลิ่น สี หรือรสชาติ ที่ผิดปกติหรือไม่ เพราะเชื้อโรคหรือสารพิษบางอย่างเราสามารถมองเห็นด้วยตา เช่น เชื้อรา แต่สารปนเปื้อนบางอย่าง เราอาจจะมองไม่เห็น

สุดท้าย ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจเลือกทาน หรือเลือกทิ้งอาหารที่หมดอายุ ข้อให้พิจารณาตามความเหมาะสม และสภาพเป็นจริง อย่าให้ความเสียดายที่เกินพอดีมาบั่นทอนคุณภาพชีวิต เลือกซื้อแค่พอทาน อย่าซื้อเก็บไว้นานจนทานไม่ทันนะคะ.


อ้างอิงข้อมูล: www.fda.moph.go.th (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา)

เครดิตภาพ: www.foodnetworksolution.com l www.thaihealth.or.th

關鍵字
อาหารหมดอายุ
ควรบริโภคก่อน
ฉลากอาหาร
วันหมดอายุ
วันผลิต
OpenRice TH Editor
本月熱門
曼谷最新地標One Bangkok 超過250間餐廳進駐!
2024-11-29
泰國米芝蓮2025⭐️36間星級餐廳名單出爐!
2024-11-28
公主殿下命名!正宗泰菜餐廳推介——白花樓
2024-11-25