...ข้อดีข้อเสียของอาหารรมควันและวิธีกินให้ปลอดภัย...
การรมควัน เป็นวิธีการถนอมอาหาร โดยการใช้ควันจากการเผาไหม้และความร้อน ทำให้อาหารสุก แห้ง และเก็บได้นาน รวมทั้งมีกลิ่นควันอันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารรมควัน แต่ด้วยวิธีการเผาไหม้อาหารเป็นเวลานาน แม้ว่าอาหารจะไม่ได้ถูกเปลวไฟโดยตรง แต่ในควันไฟก็มีสารพิษที่น่าจะเป็นอันตรายต่อร่างกายไม่น้อย แล้วอย่างนี้อาหารรมควันจะถนอมสุขภาพของเราด้วยหรือไม่ แล้วทำอย่างไรเพื่อให้กินอาหารรมควันได้โดยมีสุขภาพดีด้วย เรามีคำตอบ
การรมควันอาหาร มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่
1. การรมควันเย็น – ใช้อุณหภูมิไม่สูงมาก ประมาณไม่เกิน 45 องศาเซลเซียส ใช้เวลารมควันนาน ถ้าต้องการรมควันเพื่อกลิ่นใช้เวลา 24 ชม. แต่หากรมควันเพื่อถนอมอาหารได้นานใช้เวลากว่า 1 สัปดาห์
2. การรมควันร้อน – ใช้อุณหภูมิสูงประมาณ 60–120 องศาเซลเซียส เวลา 3-4 ชม. อาหารจะสุกและกินได้ทันที สามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิต่ำได้นาน
ข้อดีของการรมควัน ทำให้อาหารมีกลิ่นที่น่ากิน ป้องกันกลิ่นเหม็นหืนของเนื้อสัตว์ หลังการรมควันอาหารก็จะสุก สามารถกินได้ทันที และถือเป็นการถนอมอาหารไม่ให้เน่าเสีย เก็บไว้กินได้นานขึ้น
ข้อเสียของการรมควัน ทำให้อาหารมีสารปนเปื้อน อย่างเช่น ดินประสิว ทำให้อาหารมีสีแดงจัด, สารกลุ่ม PAH (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon) เป็นสารปนเปื้อนจากควันสีดำ, สารเบนโซเอไพรีน (Benzo (a) pyrene) เกิดจากอาหารที่สัมผัสกับเปลวไฟโดยตรง โดยเฉาะอาหารที่ไขมันมาก ในกระบวนการให้ความร้อน อาหารก็จะสะสมสารนี้มากขึ้น โดยสารปนเปื้อนทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสารก่อมะเร็งในร่างกายทั้งนั้น
ดูเหมือนข้อเสียของการรมควันอาหารจะมีมากจนไม่อยากกินอาหารรมควันอีกต่อไป แต่ว่า มีการทดลองกับสัตว์ทดลองพบว่า เมื่อเพิ่มอาหารพวกผัก ผลไม้ สมุนไพรให้กับสัตว์ทดลองกินร่วมกับอาหารรมควัน ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งจะลดลงทันที เพราะสารคลอโรฟิลด์ในผักช่วยจับสารกลุ่ม PAH และกระตุ้นให้กำจัดสารเหล่านี้ออกจากร่างกายได้ ดังนั้นหากรับประทานอาหารรมควันควรรับประทานร่วมกับผัก ผลไม้ หรือสมุนไพร ก็จะช่วยรักษาสุขภาพร่างกายของเราเอาไว้ และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือเลือกกินอาหารรมควันอย่างพอเหมาะ อย่ากินบ่อยหรือเยอะจนเกินไป ไม่งั้นมะเร็งถามหาแน่นอน
กินอาหารรมควันร่วมกับผักเพื่อความปลอดภัย
กินเป็นสลัดทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพ
อ้างอิง: www.foodnetworksolution.com/wiki/word/0958/smoking-การรมควัน l https://sites.google.com/site/foodntechnology/kar-thnxm-xahar-food-preservation/5