หากพูดถึงคำว่า "สาเก" คนคงคิดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใสๆจากประเทศญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นอย่างแรก โดยลืมนึกถึงผลไม้ในบ้านเราเองอย่างลูกสาเกไปเสียสนิท หรือบางคนอาจไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ
สาเก (Breadfruit) มีอีกชื่อหนึ่งว่า ขนุนสำปะลอ เป็นไม้ผลชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันแพร่หลายในภูมิภาคเขตร้อน ลูกสาเกรูปร่างคล้ายขนุน เปลือกนอกสีเขียว เนื้อในสีเหลืองซีดหรือสีขาว แบ่งเป็น 2 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ พันธุ์ข้าวเหนียว มีผลขนาดใหญ่ เมื่อสุกแล้วเนื้อจะเหนียวหนึบ เหมาะสำหรับทำขนม และ พันธุ์ข้าวเจ้า มีผลขนาดเล็กกว่า เนื้อหยาบร่วน ไม่นิยมนำมาทำอาหาร
ความนุ่มเหนียวหนึบหนับของเนื้อสาเกทำให้มีคนนำมาแปรรูปเป็นขนมหรืออาหารหลายอย่าง เช่น สาเกเชื่อม ต้มกับกะทิทำแกงบวดสาเก หั่นบางๆแล้วทอดกรอบ นำผลดิบไปป่นเป็นแป้งเพื่อทำขนมปังกรอบ เป็นต้น
สาเกเชื่อม
แกงบวดสาเก
สาเกทอดกรอบ
สาเกมีคุณสมบัติช่วยป้องกันโรคหัวใจ ควบคุมอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต ป้องกันโรคความจำเสื่อม ป้องกันโรคกระดูกผุสำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ช่วยเรื่องการดูดซึมน้ำตาลในร่างกาย ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยให้ลำไส้และระบบขับถ่ายทำงานได้สะดวก ให้พลังงานสูง มีแคลเซียมและวิตามินเอ แถมยางของต้นสาเกยังนำไปใช้ทำยางดักนกหรือแมลงต่างๆ รักษาโรคกลากเกลื้อน และใช้เป็นชันยาเรือได้ด้วย
ปัจจุบันเราอาจหาสาเกที่เป็นผลไม้กินได้ยากกว่าสาเกที่เป็นเครื่องดื่มเสียอีก ดังนั้นถ้าใครพบเจอลูกสาเกที่ไหนก็อย่าลืมซื้อมาลิ้มลองกันดู บางทีอาจติดใจถึงขั้นอยากไปลองซื้อหามาปลูกไว้เลยก็เป็นได้
Cr. Wikipedia.com, สาระเร็ว.com, Medthai.com
Photo credit: Wikipedia.com, rayongchip,
sciencemeetsfood.org, bloggang.com/tomaiw