ทำไมต้อง "เฉาก๊วยชากังราว" ชื่อนี้มีดีอย่างไร มาดูที่มากันดีกว่า
2014-03-07
หน้าร้อนอย่างนี้ คนไทยก็มีการทาน

อาหารดับร้อน

ในแบบวิถีแบบไทยๆ ไม่ว่าจะเลือกผักผลไม้ที่มีฤทธิ์เย็นมาปรุงเป็นเมนูคลายร้อน หรือจะเลือกทานผลไม้รสชาติหวานฉ่ำคู่กับน้ำแข็ง อีกหนึ่งของว่างที่คนไทยนิยมมากๆ โดยเฉพาะในหน้าร้อนนั่นก็คือ เฉาก๊วย ถ้าจะพูดถึงเฉาก๊วยตามท้องถนนบ้านเราจะเห็นแปะป้ายว่า

เฉาก๊วยชากังราว

แล้วทำไมต้องเป็นเฉาก๊วยชากังราว? OpenRice มีคำตอบค่ะ

 

 

อันดับแรกเรามารู้จักเฉาก๊วยกันก่อน เฉาก๊วยทำมาจากต้นเฉาก๊วย พืชในตระกูลเดียวกับมินต์จำพวกสะระแหน่ โดยมีต้นกำเนิดจากจีนและยังพบมากในจีนอีกด้วย คำว่า เฉาก๊วย คนไทยก็เรียกตามภาษาจีนแต้จิ๋วค่ะ สำหรับวิธีการทำเฉาก๊วยคือการนำต้นเฉาก๊วยแห้งมาใส่ลงไปในน้ำ ต้มจนยางไม้และแพคตินละลายออกมาได้น้ำสีน้ำตาลดำ แล้วจึงนำมากรองเอาแต่น้ำไปผสมแป้ง สมัยก่อนนิยมใช้แป้งท้าวยายม่อมและแป้งมันสำปะหลัง ที่คนไทยนิยมรับประทานเป็นอาหารดับร้อน 

 

สรรพคุณของเฉาก๊วย นอกจากจะเป็นอาหารดับร้อนได้แล้ว ยังมีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการร้อนใน ไข้หวัด ลดความดันโลหิตสูง บรรเทาอาการกล้ามเนื้ออักเสบ ข้ออักเสบ ตับอักเสบและเบาหวาน ไม่น่าเชื่อว่าของอร่อยจะเป็นยาอย่างดีต่อร่างกาย

 

ส่วนเฉาก๊วยชากังราวที่เราคุ้นหูและคุ้นปาก (เพราะหาทานได้ง่าย) กันนั้น เป็นยี่ห้อของเฉาก๊วยซึ่งคำว่า ชากังราว เป็นหนึ่งในชื่อเมืองกำแพงเพชรในอดีต จึงถูกนำมาตั้งเป็นชื่อบริษัทของอดีตข้าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ที่ใช้เฉาก๊วยถึง 3 สายพันธุ์ คือต้นเฉาก๊วยจากจีน อินโดนีเซีย และเวียดนาม ที่ดึงคุณลักษณะเด่นๆ ออกมาจนได้เฉาก๊วยชากังราว

 

ความพิเศษของเฉาก๊วยชากังราว กว่าจะได้ออกมาเป็นอาหารดับร้อนยอดฮิตในเมืองไทย ได้นำความพิเศษของ 3 สายพันธุ์มาทั้งเฉาก๊วยเวียดนามที่มีความหวานที่สุด เฉาก๊วยอินโดนีเซียที่มีความเหนียวนุ่มไม่เหมือนใคร และเฉาก๊วยของจีนที่ให้ความกลมกล่อม ต้นเฉาก๊วยที่ใช้ก็ต้องนำเข้าเพราะไม่สามารถปลูกในเมืองไทยได้ โดยนำต้นที่ตากแห้งมาต้มประมาณ 1-2 ชั่วโมง ให้ยางเฉาก๊วยออกมา แล้วกรองเศษเปลือกออก จากนั้นนำมาเคี่ยวอีก 3 ชั่วโมง แล้วกรองอีกครั้งก่อนผสมน้ำเชื่อมกวนจนเข้ากันดี กรองอีกครั้งก่อนกวนเป็นครั้งสุดท้าย แล้วเทใส่ถาดพักไว้จนแข็งตัว นำไปตัดและใส่บรรจุภัณฑ์ออกวางขาย ทำให้มีลูกค้าจากทั่วทุกสารทิศมานำไปทำเป็นของหวานขายต่ออีกทอดหนึ่ง หรือนำไปเพิ่มน้ำเชื่อม ใส่น้ำตาลทรายแดงกินเองก็อร่อยแล้ว เพราะเฉาก๊วยชากังราวการันตีรสชาตินุ่มเหนียวเคี้ยวเพลินและยังให้รสชาติที่หวานกลมกล่อมอีกด้วย


โชคดีจริงๆ ที่ไม่ต้องไปไกลถึงกำแพงเพชรก็สามารถหารับประทานได้ง่ายๆ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่ก็ต้องระวังของลอกเลียนแบบนะคะ

 

สำหรับใครที่อยากลองทำเองคลิกอ่าน สูตรอาหารเฉาก๊วยนมสดและเฉาก๊วยทรงเครื่อง

 

หรือลองหาอาหารดับร้อนอื่นๆ คลิกอ่าน สูตรอาหารลอยแก้ว

 


เครดิต: student.nu.ac.th, manager.co.th  และ gotoknow.org

คีย์เวิร์ด
เฉาก๊วย
เฉาก๊วยชากังราว
อาหาร คลายร้อน
ของว่าง ดับร้อน
สรรพคุณเฉาก๊วย
OpenRice TH Editor