คลั่งผอมมากไประวังเป็น โรคอะนอเร็กเซีย
2016-05-06

ค่านิยมผอมสวย ยังคงมีให้เห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ดูได้จาก ดารา นักแสดง นางแบบ และเหล่าเซเลบ ที่ยังคงโชว์เรือนร่างอันผอมเพรียวในเสื้อผ้าน้อยชิ้น ทำให้สังคมตีภาพเหล่านั้นว่า ดี สวย และควรจะเป็น ล่าสุด ดาราฮอลลิวูด ชื่อดัง อย่าง แองเจลิน่า โจลี ก็ตกเป็นเป้าข่าวลือ ถึงกระแสของโรคกลัวอ้วนนี้ ด้วยภาพที่เธอดูซูบผอม จนมีน้ำหนักตัวเหลือเพียง 35 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีคนดังในโลกมายาอีกหลายคนที่เฉียดตาย กับโรคนี้ แต่สาเหตุจะเกิดจากอะไร และแก้ไขได้หรือไม่ ลองติดตามกันนะคะ

 

คลั่งผอมมากไประวังเป็น โรคอะนอเร็กเซีย

 

คลั่งผอมมากไประวังเป็น โรคอะนอเร็กเซีย

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับ โรคอะนอเร็กเซีย

 

โรคอะนอเร็กเซีย เนอร์โวซา (Anorexia Nervosa) หรือ โรคกลัวอ้วน เป็นโรคที่เกิดจากอาการผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งบุคคลจะมีทัศนคติที่เลวร้ายเกี่ยวกับเรื่องความอ้วน จึงส่งผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกทุกสิ่ง ที่จะนำมาซึ่งความผอม เช่น อดอาหาร ล้วงคอเอาอาหารออก ใช้ยาระบาย ยาขับปัสสาวะ ออกกำลังกายหักโหม หวาดกลัวระแวงทุกสิ่งเมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการหลอน และมีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา

 

คลั่งผอมมากไประวังเป็น โรคอะนอเร็กเซีย

โรคนี้มักเกิดกับ วัยรุ่น และผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และมักจะเกิดกับผู้ที่มีอาชีพที่ต้องออกโชว์ตัวกับสาธารณชนเป็นประจำ เช่น ดารา นักแสดง นางแบบ พริตตี้ เป็นต้น เพราะคนเหล่านี้มักจะถูกสังคมกดดัน และชื่นชมคนที่ผอมกว่า ยิ่งผอมมากยิ่งดูดี ดังจะเห็นได้จากสื่อทางโทรทัศน์ งานอีเว้นท์ หรือเวทีประกวดต่างๆ 

 

อดอาหาร ถึงขั้นเสียชีวิต

ใครว่า อดอาหารเป็นเรื่องเล่นๆ จากข้อมูลพบว่า คนที่มีอาการของโรคอะนอเร็กเซีย ร้อยละ 0.5 – 1.0 มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 10 เลยทีเดียว และร้อยละ 5 – 18 จะเป็นโรคขาดสารอาหาร สารเคมีในร่างกายไม่สมดุล และคิดฆ่าตัวตายในที่สุด โรคนี้อาจเป็นแล้วหายขาดได้ ถ้ารีบรักษา หรือบางรายอาจจะเป็นแบบเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ อยู่ที่สภาพจิตใจและสภาพแวดล้อมของแต่ละบุคคล

 

คลั่งผอมมากไประวังเป็น โรคอะนอเร็กเซีย

อาการพึงระวัง ต้องรีบรักษา

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดย คุณอมรากุล  อินโอชานนท์ ได้ให้ข้อสังเกตถึงอาการที่พึงระวังจากโรคอะนอเร็กเซีย ไว้เป็นข้อ ๆ ดังนี้ 
•    การอดอาหาร เพื่อให้น้ำหนักลด เพิกเฉยต่อความหิว
•    หวาดกลัว เมื่อน้ำหนักเพิ่ม
•    ออกกำลังกายหักโหม
•    มีขนอ่อนขึ้นตามร่างกายและใบหน้า  ผิวหนังแห้งและเหลือง
•    มีความรู้สึกไวต่ออุณหภูมิที่ลดลง  มักบ่นหนาว เนื่องจากอุณหภูมิของร่างกายลดลง (hypothermia)
•    ผมร่วง เล็บและผมแตกเปราะง่าย ผมบางลง
•    เจ็บป่วยบ่อย
•    การรับรู้เกี่ยวกับรูปร่างผิดปกติ คือรู้สึกว่าตนเองอ้วนทั้ง ๆ ที่ผอมมาก
•    ทรมานกับความรู้สึกซึมเศร้า
•    พฤติกรรมการกินจะแปลกออกไป  เช่น  ตัดแบ่งอาหารเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย  ปฏิเสธที่จะกินต่อหน้าคนอื่น ๆ ยัดเยียดอาหารของตนเองให้คนอื่น
•    เด็กผู้หญิงจะมีอาการขาดประจำเดือน  
•    อารมณ์เสียบ่อย ขาดสมาธิ  มักนึกถึงเรื่องอาหารอยู่เสมอ

 

โรคอะนอเร็กเซีย รักษาหายได้ โดยไม่ต้องพึ่งยา

ปัจจัยหลักที่จะให้ผู้ป่วยโรคนี้ สามารถหายได้เร็วและไม่กลับไปเป็นอีก คือ การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ป่วย ในเรื่องการยอมรับตนเอง และการมีโภชนาการที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง โดยผู้ป่วยที่เพิ่งเป็น หรือเริ่มมีอาการของโรคนี้ จะรักษาได้ง่ายและเร็ว แต่ถ้ามีพฤติกรรมของโรคมากว่า 1 ปี ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาเป็นขั้นตอนตามกระบวนการ 

 

ป้องกัน ก่อนเป็นโรคกลัวอ้วน

ครอบครัว เพื่อน และคนใกล้ชิด มีส่วนทั้งช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้ และกดดันให้เป็นโรคนี้ได้ทั้ง 2 ทาง เพราะคนที่เป็นโรคนี้ หลักๆ แล้ว เกิดจากสภาวะจิตใจที่ไม่เข้มแข็งของผู้ป่วย ที่รับข้อมูลหรือเสพสื่อมากจนเกิดความไม่มั่นใจในตัวเอง จึงต้องการทำให้ตนเองดูโดดเด่น เท่าเทียมผู้อื่น นำมาซึ่งความคิดว่า ผอม คือ สวย และเข้าสู่วงจร ทำให้ตนเองผอม เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมต่อไป

การป้องกันง่ายๆ ที่จะช่วยให้ไม่เกิดโรคนี้ กับตนเองและคนใกล้ชิด ก็คือ การสร้างกำลังใจให้ตนเอง มองจุดเด่นของตนเอง ที่ไม่ใช่รูปร่าง เช่น มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เรียนเก่ง มีครอบครัวที่ดี เป็นต้น ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันความคิดหมกมุ่นเรื่องรูปร่างเพียงอย่างเดียว ให้กำลังใจคนใกล้ชิด แทนการพูดตำหนิ เปรียบเทียบ หรือวิจารณ์รูปร่างกันและกัน เพื่อความสนุก ง่ายๆ แค่นี้ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้ตนเองและคนที่รักต้องเผชิญกับโรคร้ายที่ดูขำขำ และไม่ขำเลย

เมื่อเกิดโรคแล้ว เราก็ควรแก้ไขที่ต้นเหตุของโรค เพื่อให้สุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นสุข แต่ถ้ายิ่งรู้ว่ามีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ ยิ่งต้องควรป้องกัน เพราะเราไม่มีทางรู้ว่า จะหายหรือจะสายก่อนกัน.. เรามาเปลี่ยนค่านิยมเรื่องความผอมสวย ปลอดโรค และต้องมีสุขภาพดีกันเถอะ.. เริ่มที่ตัวเราตั้งแต่วันนี้ เพื่อไม่ให้โรคต่างๆ เข้ามาทำลายความสุขในชีวิตเรา 

 

เครดิตข้อมูล
•    กรมสุขภาพจิต
เครดิตภาพ
•    www.dee-wa.com
•    www.thaigood.com
•    www.seventeenthailand.com

•    http://petmaya.com

คีย์เวิร์ด
อะนอเร็กเซีย
Anorexia Nervosa
ลดน้ำหนัก
โรคกลัวอ้วน
อดอาหาร
OpenRice TH Editor