เลือก “ไส้กรอก” ให้ปลอดภัย ทำอย่างไรดี
2016-05-19

...กินไส้กรอกปลอดภัยหรือไม่และมีวิธีการเลือกไส้กรอกอย่างไร...

“ตรวจเข้มไส้กรอกไทย พบดินประสิวเกินมาตรฐาน” พาดหัวข่าวตัวใหญ่ที่ทำเอาสมาคมคนรักไส้กรอกอย่างเรา ๆ เกิดข้อสงสัยว่า แล้วชั้นจะยังคงทานไส้กรอกกันได้อยู่หรือไม่ แล้วดินประสิวมาเกี่ยวอะไรกับไส้กรอก ทานเข้าไปจะมีอันตรายถึงชีวิตไหม แล้วจะเลือกทานไส้กรอกอย่างไรถึงจะปลอดภัยกับสุขภาพ กับอีกหลายคำถามที่วันนี้ OpenRice มีคำตอบค่ะ

ตรวจเข้ม “ไส้กรอก” กับ อย.

ไส้กรอก

หลายต่อหลายครั้งที่มีข่าว การพบสารปนเปื้อนในไส้กรอก ไม่ว่าจะเป็น สารกันบูด และดินประสิว ข่าวโรคมะเร็งจากไส้กรอก หรือข่าวเกี่ยวกับเนื้อหมูไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ตกอกตกใจกันเป็นระลอก ล่าสุดทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ก็ได้ออกมาเตือนอีกครั้ง เกี่ยวกับการตรวจพบปริมาณสารไนเตรท ไนไตรท์ เกินปริมาณที่ อย. กำหนด จากการสุ่มตรวจไส้กรอก 15 ยี่ห้อ พบว่า 3 ยี่ห้อที่ไม่ได้มาตรฐาน

ไส้กรอก มาจากไหน

การทำไส้กรอก เป็นอาหารที่มีมานานกว่า 3,500 ปี โดยชาวยุโรปได้นำสูตรมาปรับปรุง และเริ่มเป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน การทำไส้กรอกถือเป็นการถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่ง ส่วนผสมของไส้กรอกที่สำคัญ ได้แก่ เนื้อสัตว์บด ไส้ธรรมชาติหรือไส้สังเคราะห์ เกลือแกง ไขมัน เกลือไนเตรท เกลือไนไตรท์ เครื่องเทศต่าง ๆ  และเครื่องปรุงรส วิธีการทำไส้กรอก เราจะใช้เกลือ เครื่องเทศ และส่วนผสมอื่น ๆ ผสมกับเนื้อสัตว์ที่บดแล้ว  และคลุกเคล้ากัน แล้วอัดลงในไส้ ผ่านกรรมวิธีต่าง ๆ ให้เก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้นโดยไม่เสียรสชาติ  ซึ่งไส้กรอกมีอยู่หลายประเภทเรียกตามลักษณะการผลิต เช่น ไส้กรอกสด ไส้กรอกสุก ไส้กรอกรมควัน และไส้กรอกแห้ง ในแต่ละประเภทก็จะถูกเรียกชื่อต่าง ๆ กันออกไป

สารปรุงแต่ง ในไส้กรอก ใส่เพื่ออะไร

ไส้กรอก

เบคอน

กุนเชียง

โซเดียมไนไตรท์ และโปรตัสเซียมไนเตรท ที่เรียกกันทั่วไปว่า ดินประสิว เป็นวัตถุเจือปนในอาหาร ประเภทสารกันเสีย  ซึ่งจะทำให้เนื้อสัตว์มีสีแดงอมชมพูน่ารับประทาน เช่น ในไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง แหนม เนื้อเค็ม เป็นต้น นอกจากนี้หน้าที่หลักของสารกลุ่มนี้ คือเป็นสารกันเสีย ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มโบทูลินั่ม ซึ่งเป็นตัวการของโรคอาหารเป็นพิษ ถ้าใส่ในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะไม่เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค ยกเว้นในบางรายที่มีอาการแพ้หรือร่างกายตอบสนองไวต่อสารเหล่านี้

เมื่อเราแพ้ “ไส้กรอก” จะเป็นอย่างไร

สังเกตอาการเบื้องต้นในกรณีที่เราเกิดอาการแพ้สารเจือปนในไส้กรอก ไม่ว่าจะเป็น ไนเตรท ไนไตรท์ หรือสารประกอบอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่ร่างกายตอบสนองไวต่อสารเหล่านี้ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด และปวดศีรษะ ข้อควรระวังยิ่งไปกว่านั้นคือ สารไนไตรท์ สามารถทำปฏิกริยากับสารกลุ่มเอมีนในยาฆ่าแมลง ที่สะสมอยู่ในผักผลไม้ที่เราทาน ก่อให้เกิดสารก่อมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร เช่น มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะ และมะเร็งหลอดอาหารได้ด้วย

มาตรการทางกฎหมาย กับไส้กรอกอันตราย

อย. ได้มีการกำหนดปริมาณสูงสุดของสาร 2 ตัวนี้ ที่จะใช้เจือปนในอาหาร โดยสารไนเตรท หรือเกลือไนเตรท ใช้ได้ในปริมาณไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม และสารไนไตรท์ หรือเกลือไนไตร์ท ใช้ได้ในปริมาณไม่เกิน 125  มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ในทางกฎหมายระบุว่า หากตรวจพบว่า มีการใช้สารดังกล่าวเกินมาตรฐาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีคำสั่งให้ผู้ผลิตหรืผู้นำเข้าอาหารดังกล่าว งดผลิตหรืองดนำเข้าจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไข

กฎ 5 อ. ในการเลือกไส้กรอก

1. อย. บนฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ของอาหารที่เราซื้อ มีสัญลักษณ์ อย. ซึ่งมีการตรวจสอบจากสำนักคณะกรรมการอาหารและยา  ว่าอาหารดังกล่าว สะอาด ปลอดภัยสามารถบริโภคได้อย่างสบายใจ

Cr.Pic: thaihealth.or.th

2. อายุ นอกจากมี อย. แล้ว เราต้องตรวจดูวัน เดือน ปี ที่ผลิต และวันหมดอายุด้วยตัวเอง โดยแต่ละผู้ผลิตก็จะใช้คำที่แตกต่างกันไป เช่น

Expiry Date / Expiration Date หรือ EXP / EXD คือ วันที่หมดอายุ

Manufacturing Date / Manufactured Date  หรือ MFG / MFD  คือ วันที่ผลิต

Best Before / Best Before End  หรือ BB / BBE  คือ ควรบริโภคก่อนวันที่ 

Cr.Pic: thaihealth.or.th

3. เอกสาร หรือ ฉลากกำกับ : ฉลากข้อมูลสินค้า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรพิจารณาก่อนซื้อ เพราะในฉลากจะมีทั้งข้อมูลวัตถุดิบในการผลิต ข้อมูลโภชนาการต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจเปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์

4. อุณหภูมิ และสถานที่เก็บอาหาร : ไส้กรอกเป็นอาหารที่ต้องอยู่ในตู้แช่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ในการเลือกซื้อควรคำนึงถึงสถานที่จัดเก็บ ว่าต้องอยู่ในที่เย็น สะอาด ปลอดภัย และดูน่าเชื่อถือ

5. อาการ สำรวจและสังเกตอาการของตนเอง เมื่อบริโภคไส้กรอก ถ้ามีอาการดังที่กล่าวข้างต้น ควรหยุดรับประทาน และถ้าไม่มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย สามารถร้องเรียนไปได้ที่ อย. 1556


อ้างอิง: www.foodnetworksolution.com

เครดิตภาพ: www.thaihealth.or.th l OpenSnap

OpenRicer: pinklemonade l กินไหนดี โคราช l panita.teeratorndumrongdej

Keyword
ไส้กรอก
อันตรายจากไส้กรอก
วิธีการเลือกไส้กรอก
สารเจือปน
OpenRice TH Editor