ซุปเยื่อไผ่ไม่ได้ทำจากไผ่!
2014-09-12
รู้หรือเปล่า 

ซุปเยื่อไผ่ไม่ได้ทำจากไผ่

 แต่ทำจากเห็ด! นั่นก็เพราะเยื่อไผ่ที่นิยมนำมาประกอบอาหารนั้นแท้จริงแล้วเป็นเห็ด ไม่ได้มาจากต้นไผ่แต่อย่างใด ซึ่งเห็ดชนิดนี้มีหลายชื่อมากๆ เลยค่ะ แต่ชื่อที่ตรงตัวที่สุดก็คือ 

เห็ดเยื่อไผ่

 ส่วนเมนูยอดนิยมก็เช่น แกงจืดเยื่อไผ่และซุปเยื่อไผ่ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับเห็ดชนิดนี้ที่น่าสนใจมากๆ ตามไปอ่านกันได้เลยค่ะ

 

 

จากข้อมูลของสำนักบริหารและรับรองห้องปฏิบัติการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อธิบายถึงลักษณะของเจ้าเห็ดชนิดนี้ไว้ว่า เห็ดเยื่อไผ่ หรืออีกชื่อว่า เห็ดร่างแห มีลักษณะคล้ายกับตาข่าย ก้านคล้ายฟองน้ำ เมื่อยังอ่อนมีลักษณะก้อนกลมสีขาวคล้ายฟองไข่นก โตขึ้นลำต้นและหมวกเห็ดจะยืดตัวแทรกออกจากเปลือก มักขึ้นเป็นดอกเดี่ยวๆ เมื่อโตเต็มที่หมวกเห็ดจะมีรูปร่างเหมือนตาข่าย ก้านเห็ดเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ ส่วนบนสุดของดอกมักมีสีเข้ม แถมเห็ดชนิดนี้มีหลายสี เช่น สีส้ม แดง ขาว เหลือง และชมพู ซึ่งตามธรรมชาติแล้วเห็ดชนิดนี้จะขึ้นอยู่ตามป่าที่มีฝนชุกหรือป่าช่วงฤดูฝน แต่ในประเทศจีนก็ได้มีการเพาะเลี้ยงอยู่ 2 ชนิด คือ ชนิดกระโปรงยาวสีขาวและกระโปรงสีแดง แถมยังมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 3,000-5,000 บาท เลยทีเดียว

 

 

นอกจากชื่อเห็ดเยื่อไผ่และเห็ดร่างแหแล้ว ก็ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ ด้วย อย่างในภาคอีสานจะเรียกว่าเห็ดคางแห ส่วนต่างประเทศเรียกกันหลายชื่อ อาทิ Bamboo mushroom, Long net stinkhorn, Basket stinkhorn, Netted stinkhorn และ  Veiled lady ตัวอย่างของชื่อเจ้าเห็ดชนิดนี้ได้ตั้งตามลักษณะเด่นๆ เช่น เห็ดเต้นรำ (Dancing mushroom) เพราะหมวกเห็ดมีลักษณะคล้ายกระโปรงลูกไม้ เมื่อโดนลมพัดจะคล้ายกับผู้หญิงเต้นระบำ ส่วนในประเทศญี่ปุ่นจะเรียกว่า เห็ดราชา (King of mushroom) ส่วนที่ใช้คำว่า เจ้าแตรเหม็น "stinkhorn" ต่อท้ายชื่อ เพราะตรงส่วนบนสุดของเห็ดเป็นแหล่งผลิตสปอร์และมีกลิ่นเหม็น และแม้ว่าจะพบเจอได้ตามป่าต่างๆ แต่ก็รับประทานได้เพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น อย่างในในประเทศจีนมีเห็ดชนิดนี้ 9 ชนิด รับประทานได้เพียง 4 ชนิด ส่วนภาคอีสานของไทยพบอยู่ 4 ชนิด แต่ที่นิยมมารับประทานคือชนิดกระโปรงยาวสีขาวและกระโปรงสั้นสีขาว

 

เห็ดเยื่อไผ่ มีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง มีโปรตีน (Nx6.25) 15-18% กรดแอมิโนถึง 16 ชนิด จากทั้งหมด 20 ชนิดที่ร่างกายมนุษย์ต้องการ และกรดแอมิโน 16 ชนิดนี้ ยังเป็นกรดแอมิโนที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ถึง 7 ชนิด และมีไรโบฟลาวิน (riboflavin) หรือวิตามินบี 2 ค่อนข้างสูง จากการสกัดสารจากเห็ดร่างแหพบสารที่สำคัญ 2 ชนิด คือ พอลิแซ็กคาร์ไรด์และไดโอไทโอโฟริน เอและบี ซึ่งสารกลุ่มนี้เป็นตัวช่วยในการปกป้องระบบประสาทไม่ให้ถูกทำลายจากสารพิษ มีผลต่อการต้านการอักเสบ ต่อต้านการเกิดเนื้องอก และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

 

ส่วนประโยชน์ของเห็ดเยื่อไผ่นั้น ชาวจีนได้ริเริ่มนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่เมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ทั้งนำมาผสมเป็นยาและปรุงเป็นอาหาร ในอดีตเป็นหนึ่งในเจ็ดของยาอายุวัฒนะที่จัดเป็นเมนูเสวยให้กับฮ่องเต้ในราชวงศ์ชิง ตามตำรายาจีนมีการใช้เห็ดชนิดนี้เป็นยาบำรุงร่างกายเมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือมีอาการอ่อนเพลียเนื่องจากท้องเดิน รักษาโรคความดันโลหิตสูง และปัญหาเนื้อเยื่อมีไขมันมาก ตับอักเสบ โรคที่เกี่ยวข้องกับไต ตา ปอด และเป็นหวัด ซึ่งมีรายงานระบุว่า สามารถนำเห็ดชนิดนี้มาเป็นส่วนผสมน้ำมันนวดแก้โรคเกาต์และรูมาติซึมได้ โดยประเทศแถบเอเชียนิยมรับประทานเห็ดที่ตากแห้ง เพียงแค่นำมาเติมน้ำร้อนก็ดื่มได้ทันที สำหรับประเทศไทยนั้นมักจะนำมาประกอบอาหารมากกว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลเรื่องการตรวจพบสารฟอกขาวในเยื่อไผ่ ทางที่ดีจึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานจากแหล่งที่เชื่อถือได้เพื่อความปลอดภัยและได้ประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแท้จริง


ประโยชน์มากมายขนาดนี้ มาลองทำเมนูจากเห็ดเยื่อไผ่กันเถอะ 

 

   สูตรอาหาร ซุปเยื่อไผ่ซี่โครงหมู

   สูตรอาหาร ซุปเยื่อไผ่ไส้เห็ด

 


เครดิต: en.wikipedia.org/wiki/Phallus_indusiatus, facebook.com/bangkokhospitalnetwork, foodnetworksolution.com และ khaosod.co.th

คีย์เวิร์ด
ซุปเยื่อไผ่ไม่ได้ทำจากไผ่
เห็ดเยื่อไผ่
สูตรอาหาร ซุปเยื่อไผ่
เยื่อไผ่ ประโยชน์
OpenRice TH Editor