ประวัติข้าวแช่และวิธีกินข้าวแช่ที่ถูกต้อง
2016-04-11

เดือนเมษายนมาถึง เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าได้ย่างเข้าหน้าร้อนอย่างเป็นทางการ ความร้อนที่ระอุกรุ่นทำให้อุณหภูมิทั้งภายนอกและภายในร่างกายร้อนขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ร้อนภายนอกยังพอมีวันสงกรานต์สาดน้ำเล่นกันให้ชื่นฉ่ำกาย แล้วร้อนภายในล่ะ จะแก้ด้วยอะไรดีนะ...“ข้าวแช่” นั่นไง เมนูสุดเด็ดที่ร้านรวงต่างๆ พร้อมจะเปิดสำรับคลายร้อนจากภายในให้คุณชื่นใจตลอดคิมหันตฤดูนี้

ข้าวแช่มาจากไหน?

จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า “ข้าวแช่” เมนูอันหอมเย็นชื่นใจประจำหน้าร้อนจะเป็นตำรับอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ โดยชาวมอญจะเรียกว่า "เปิงด๊าดจ์"  ซึ่ง "เปิง" แปลว่า "ข้าว" และ "ด๊าดจ์" แปลว่า "น้ำ" "เปิงด๊าดจ์" จึงมีความหมายว่า "ข้าวน้ำ" ที่นิยมทำขึ้นเพื่อถวายทวยเทพในเทศกาลตรุษสงกรานต์ โดยทำถวายแด่พระสงฆ์ และนำไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคารพนับถือ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

ข้าวแช่ชาวมอญ

ข้าวแช่กับสงกรานต์

จากตำนานสงกรานต์มอญที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จารึกไว้ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จำนวน 7 แผ่น ระบุไว้ว่า มีเศรษฐีชาวมอญผู้หนึ่งอยากได้บุตรธิดามาก จนไปบวงสรวงพระอาทิตย์พระจันทร์อยู่นานถึง 3 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที จนถึงวันนักขัตฤกษ์ต้นปีใหม่ ซึ่งเป็นวันมหาสงกรานต์ เศรษฐีผู้นั้นจึงเปลี่ยนไปบวงสรวงพระไทรที่สิงสถิตในต้นไม้ใหญ่ริมน้ำ ด้วยการให้บริวารนำเมล็ดข้าวสารงามล้างน้ำถึง 7 ครั้งจนหมดมลทิน แล้วนำไปหุงเพื่อบูชาเทวดา และทำอาหารอันโอชะอย่างประณีตสวยงามอีกมากมายไปถวาย พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน จนในที่สุดเขาก็ได้บุตรชายสมดั่งที่ตั้งใจ จึงเป็นตำนานความเชื่อสืบต่อกันมาของชาวมอญที่นิยมทำข้าวแช่บูชาเทพยดาในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลและให้สมหวังดั่งใจปรารถนานั่นเอง

สงกรานต์ชาวมอญ

เครดิตภาพ http://www.tiewpakklang.com/news/kanchanaburi/11323/

ด้วยความที่คนไทยกับคนมอญมีการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันมาอย่างยาวนาน จึงทำให้ข้าวแช่ได้แพร่มาสู่สำรับไทย และเริ่มเข้าสู่สำรับชาววัง เมื่อสตรีชาวมอญได้เข้ารับราชการฝ่ายในเป็นเจ้าจอมหม่อมห้ามของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จึงได้ปรุงข้าวแช่เพื่อถวาย ต่อมา ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์ ผู้ที่เคยทำงานห้องเครื่องต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำข้าวแช่ออกสู่ตลาด จึงทำให้ได้รับความนิยมโด่งดังมาจนถึงปัจจุบัน

ม.ล.เนื่อง นิลรัตน์

เครดิตภาพ wikipedia

ส่วนประกอบความอร่อยของข้าวแช่

ความอร่อยของข้าวแช่ นอกจากจะเป็นข้าวสวยขาวหุงสุกแช่ในน้ำลอยดอกไม้หอมแสนชื่นใจแล้ว เครื่องเคียงก็เป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะช่วยทำให้หน้าร้อนในเดือนเมษายนผ่อนคลายหายเป็นปลิดทิ้งได้ดีทีเดียว อย่างลูกกะปิ ที่เป็นทีเด็ดของข้าวแช่ ที่ทำจากปลาช่อนย่าง ตะไคร้ กระชาย หัวหอม กะปิ หัวกะทิ แล้วนำมาปั้นเป็นลูกกลมๆ ขนาดพอดีคำ จากนั้นนำไปชุบไข่และแป้งสาลีทอดในกระทะจนสีเหลืองทอง ได้กลิ่นหอมคละคลุ้งชวนหิว นับเป็นสุดยอดเครื่องเคียงที่ต้องมีในข้าวแช่

ข้าวสวยหุงสุกลอยในน้ำดอกไม้หอมอบควันเทียน

ลูกกะปิ เครื่องเคียงที่ต้องมีในข้าวแช่

นอกจากลูกกะปิแล้ว ยังมีหอมแดงยัดไส้ พริกหยวกสอดไส้ หมูฝอยหรือเนื้อฝอย ไชโป๊วผัดไข่หรือไชโป๊วผัดหวานรสกลมกล่อม และผักสด กินคู่เคียงข้าวแช่คลายร้อนเข้ากันอย่างลงตัว

หอมแดงสอดไส้

พริกหยวกสอดไส้

ไชโป๊วผัดหวาน และหมูฝอย

วิธีการรับประทานข้าวแช่

ทำความรู้จักกับข้าวแช่กันมาพอสมควรแล้ว หลายคนคงอยากลองกินข้าวแช่อร่อยๆ ต้อนรับสงกรานต์กันแล้ว แต่มีอีกหลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับวิธีการรับประทานข้าวแช่และไม่เคยกินข้าวแช่มาก่อน วันนี้ OpenRice ขอเผยเคล็ดลับ วิธีกินข้าวแช่ให้อร่อยและถูกต้องให้เพื่อนๆ ได้ลองชิมกันค่ะ

1. ไม่ควรตักเครื่องเคียงมาใส่ลงในถ้วยข้าว เพราะจะทำให้ความคาวของเนื้อปลาและเครื่องปรุงต่างๆ ปะปนอยู่ในถ้วย ทำให้น้ำลอยดอกไม้มีกลิ่นคาวไม่หอมชื่นใจ

2. รับประทานเครื่องเคียงก่อน แล้วค่อยตักข้าว แล้วซดน้ำลอยดอกไม้ตามจะฟินสุดๆ คลายร้อนได้ดี

3. ลูกกะปิควรรับประทานคู่กับมะม่วงสดรสเปรี้ยวอมหวาน แนมกัน รสชาติเข้ากันดี

4. กระชายอ่อน รับประทานคู่กับพริกหยวกสอดไส้จะเพิ่มกลิ่นรสและความหอมให้กับเครื่องเคียงได้เป็นอย่างดี

เมษาหน้าร้อนนี้ คงจะไม่ร้อนกายร้อนใจอีกต่อไป เพราะมีเมนูเด็ดอย่างข้าวแช่ให้เราได้กินดับร้อน แล้วคุณล่ะ เตรียมพร้อมมาดับร้อนด้วยกันมั้ย ถ้าพร้อมแล้ว ก็ไปตะลุยชิมข้าวแช่ แล้วแชะมาแชร์กันหน่อยเร็ว

คีย์เวิร์ด
ประวัติข้าวแช่
วิธีกินข้าวแช่
อาหารคลายร้อน
อาหารสงกรานต์
OpenRice TH Editor
Monthly chart
ทุเรียนพรีเมียม พร้อมเสิร์ฟ !! “Durian Decadent Afternoon Tea” ที่ไฮแอท รีเจนซี่ กรุงเทพฯ สุขุมวิท
2025-04-22