อ้าวเฮ้ย ทำไมจู่ๆ OpenRice ถึงมาพูดอะไรแบบนี้ มากล่าวหาว่าพ่อกะลาสีกล้ามโตขวัญใจวัยเด็กของพวกเราอย่างป๊อปอายไม่กินผักโขมได้ยังไง ในเมื่อกระป๋องก็เขียนอยู่ทนโท่ว่า Spinach ขนาดนี้!
ข้อความบนกระป๋องน่ะเขียนไว้ถูกต้องแล้ว เพราะว่าจริงๆ Spinach ไม่ใช่ผักโขม แต่เป็นผักปวยเล้งต่างหาก!
ว่ายังไงนะ ในกระป๋องนี้คือปวยเล้งหรอกเรอะ!
ก่อนจะทรุดลงไปนั่งกอดเข่ามุมห้องว่าคุณหลอกดาวเหมือนตอน OpenRice รู้ความจริงข้อนี้ใหม่ๆ ตัดพ้อว่าทำไมสังคมถึงโหดร้ายหลอกเราได้ขนาดนี้ จากผักโขมโซนยุโรปกลับกลายเป็นผักปวยเล้งจากประเทศพี่น้องของเราอย่างจีนไปเสียได้ เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าผักสองชนิดนี้มีประโยชน์ยังไงแน่ แล้วชนิดไหนถึงควรเป็นผักจอมพลังที่แท้จริง
หน้าตาผักโขมของแท้ที่ไม่ใช่ Spinach
ผักโขม มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Amaranth (ไม่ใช่ Spinach นะจ๊ะ) มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ ทั้งแบบปลูกเพื่อกินใบ กินเมล็ด หรือแม้กระทั่งปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ผักโขมสายพันธุ์ที่คนไทยคุ้นเคยมีอยู่ 3 ชนิด คือ ผักโขมจีน ผักโขมสวน และ ผักโขมหนาม เรานิยมนำผักโขมมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริก ผัดกระเทียม ทำแกงจืด อบชีสแบบที่เป็นเมนูยอดนิยม หรือถ้าใครเป็นสายแข็งผู้ชอบกินผักดิบก็นำใบผักโขมมาล้างแล้วกินสดๆได้เลย แต่ต้องแข็งแกร่งพอตัวทีเดียว เพราะผักโขมมีกลิ่นเหม็นเขียวอยู่ไม่ใช่น้อย ถ้านำไปลวกก่อนก็จะช่วยกำจัดกลิ่นได้
อีกเมนูผักโขมที่ฟังชื่อแล้วถึงกับขนลุกคือ นมผักโขม หรือ Amaranth milk ที่เพียงแค่จินตนาการก็รู้สึกแปลกพิกล ผักโขมที่เขียวปี๋ขนาดนั้นจะนำมาทำเป็นนมได้ยังไง คำตอบคือทำได้ เพราะใช้เมล็ดผักโขมที่ให้รสชาตินุ่มนวลหอมมันคล้ายถั่วมาทำนั่นเอง ไม่ได้ใช้ใบแบบที่เราคิด ถือเป็นเมนูที่คาดไม่ถึงและไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก
เมล็ดผักโขมที่ทำเป็นนมผักโขมได้
แต่ละท้องถิ่นเรียกผักโขมด้วยชื่อที่แตกต่างกันออกไป คนทั่วไปจะคุ้นชินกับชื่อ “ผักโขม” หรือ “ผักขม” ทางใต้จะเรียกว่า “ผักโหม” หรือ “ผักหม” ชาวแม่ฮ่องสอนเรียกว่า “ผักโหมเกลี้ยง” ส่วนชาวกะเหรี่ยงในแถบนั้นจะเรียกด้วยชื่อเท่ๆว่า “กะเหม่อลอเดอ”
ผักโขมมีคุณสมบัติช่วยบำรุงน้ำนม มีเส้นใย แคลเซียม ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินเอและซี อุดมด้วยโปรตีน กรดอะมิโน ซาโปนิน และเบต้าแคโรทีน ช่วยบำรุงสายตา บำรุงเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอล ขจัดสารพิษในร่างกาย ชะลอความแก่ชรา อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง
ผักโขมสีเขียวแกมแดงแบบนี้ก็มีนะ สีสวยน่ากินมากๆ
ส่วนเจ้าผัก Spinach ของโปรดป๊อปอายนั้นแท้จริงแล้วคือ ผักปวยเล้ง ผักชื่อจีนที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน แต่ว่ามาจากแถบเปอร์เซีย และนำเข้ามาในจีนโดยกษัตริย์เนปาล (ซับซ้อนเหลือเกิน) ผักปวยเล้งเป็นผักยอดนิยมของชาวอิหร่านจนได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าชายแห่งผัก” ที่ต้องพกไปกินแม้ยามออกรบกับสเปน จนทำให้ชาวสเปนนิยมกินตามไปด้วย
สาเหตุที่ผักนี้ได้ชื่อว่าปวยเล้งก็เพราะมีการบันทึกชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถัง ผักจากอีกซีกโลกจึงได้มีชื่อเป็นภาษาจีนไปโดยปริยาย ผักปวยเล้งนำมาทำอาหารได้หลายเมนูตั้งแต่ผัดกระเทียม ผัดน้ำมันหอย ทำแกงจืด ผัดกับครีมเป็นไส้ขนมคีชและพาย เป็นเครื่องเคียงข้างจานสเต๊ก ไปจนถึงอบชีสแบบที่เราคุ้นชิน
ผักปวยเล้งหรือ Spinach ของแท้
ขึ้นชื่อว่าเป็นผักเพิ่มพลังกล้ามโตให้ป๊อปอาย ปวยเล้งย่อมมีสารอาหารมากมายอย่างธาตุเหล็ก แคลเซียม โพแทสเซียม วิตามินซีและบีสอง เบต้าแคโรทีน แถมยังมีกรดโฟลิกมากเป็นพิเศษ ซึ่งกรดนี้ช่วยเพิ่มสารซีโรโทนินที่ทำให้ไม่หงุดหงิดง่ายและนอนหลับสนิท ปวยเล้งยังช่วยให้ผิวพรรณผุดผ่อง บำรุงสายตา กระดูก เลือด ป้องกันโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง รวมถึงเบาหวาน
ใบปวยเล้งสดๆ
ถึงแม้ทั้งผักโขมและผักปวยเล้งจะอุดมด้วยสารอาหารมากมายจนควรได้ชื่อว่าผักจอมพลังทั้งคู่ แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน ผักทั้งสองชนิดต่างก็มีกรดออกซาลิก ซึ่งหากได้รับมากเกินไปอาจรวมตัวกับแคลเซียมแล้วตกตะกอน ทำให้เกิดโรคนิ่วได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นนิ่วหรือโรคเกาต์จึงควรรับประทานแต่น้อย ก่อนนำผักทั้งสองชนิดไปประกอบอาหาร ควรนำไปลวกก่อนเพื่อกำจัดกรดออกซาลิก และควรรับประทานร่วมกับผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้นด้วย
รวมร้านเด็ดเสิร์ฟเมนูผักโขม
Credit: นิตยสาร Gourmet & Cuisine, kapook.com, food52.com
Picture credit: wonderwardrobes.com, edu.par.com.pk,
vignette4.wikia, today.com, thefourseasonings.com