...น้ำปลาไม่ได้มาตรฐาน เราเลี่ยงได้...
พอได้อ่านข่าวเรื่องการตรวจมาตรฐานน้ำปลาที่วางขายตามท้องตลาดจาก 1,121 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐาน 410 ตัวอย่าง ก็รู้สึกตกใจอยู่ไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ก็รู้อยู่แล้วว่าน้ำปลาที่ขายอยู่นั้นมีหลายเกรด มีทั้งน้ำปลาแท้ น้ำปลาผสม ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามคุณภาพและราคา แต่ก็สงสัยว่า “น้ำปลาไม่ได้มาตรฐาน” หมายความว่าอย่างไร เรามาทำความเข้าใจไปด้วยกันดีกว่า
กระทรวงสาธารณสุขเค้ามีประกาศ ฉบับที่ 203 พ.ศ.2543 แบ่งน้ำปลาออกเป็น 3 ชนิด คือ น้ำปลาแท้ น้ำปลาที่ทำจากสัตว์อื่น และน้ำปลาผสม ซึ่งต้องมีปริมาณไนโตรเจน, กลูตามิค, โซเดียมคลอไรด์ และการใช้วัตถุกันเสีย อยู่ในเกณฑ์ที่กระทรวงกำหนด หากมีปริมาณมากกว่าน้อยกว่าไม่เป็นไปตามนี้ก็เรียกว่า “น้ำปลาไม่ได้มาตรฐาน”
***รู้ไว้ใช่ว่า ชื่อ “กลูตามิค” เห็นแล้วอาจจะงง แต่แค่รู้ไว้ก็พอว่า การกำหนดปริมาณกลูตามิคต่อไนโตรเจนนั้น ก็เพื่อป้องกันการใส่ผงชูรสในน้ำปลาที่มากเกินไป ถ้าไม่กำหนดไว้เลยเดี๋ยวจะกลายเป็นว่ากินน้ำผงชูรสไปซะได้***
Cr.Pic: http://www.healthcarethai.com/น้ำปลา/
ทั้งนี้น้ำปลาก็ยังเป็นเครื่องปรุงรสเค็มประจำบ้านของเรา เรียกว่าขาดไม่ได้เลย แต่เราสามารถเลือกซื้อน้ำปลาดีมีมาตรฐานได้ ดังนี้
1.อ่านฉลากบนขวดน้ำปลา เมื่อหยิบขวดน้ำปลาแล้วสิ่งแรกคือการอ่านฉลาก สำคัญมากที่สุด
2.น้ำปลาดีต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และมีการขึ้นทะเบียน อย. ดูสัญลักษณ์บนฉลาก
3.บนฉลากต้องมีตราสินค้าและบริษัทผู้ผลิตบอกไว้อย่างชัดเจน
4.ฉลากบนขวดน้ำปลาต้องระบุวันผลิตและวันหมดอายุที่ชัดเจน
5.สำหรับผู้ที่แพ้ผงชูรส ต้องเลือกน้ำปลาที่ไม่ใส่ผงชูรส ดูได้จากฉลาก ถ้าไม่มีบอกไว้ไม่ควรซื้อยี่ห้อนั้นมารับประทาน ส่วนมากจะไม่เขียนว่า “ผงชูรส” โดยตรง แต่จะใช้คำว่า โมโนโซเดียม กลูตาเมต (monosodium glutamate : MSG)
6.น้ำปลาที่ดีต้องมีกลิ่นหอม มีสีน้ำตาลอ่อน ใสไม่มีตะกอน แต่ถ้าเป็นผลึกใสที่ก้นขวดนั้นไม่เป็นอันตราย
อ้างอิง: www.เกร็ดความรู้.net/น้ำปลา/
ขอบคุณข่าวและข้อมูลจาก www.matichon.co.th/news/310678