เข้าสู่ช่วงหน้าร้อนแบบนี้จะให้ดับร้อนด้วยการเปิดแอร์อยู่แต่ในห้องอย่างเดียวก็อาจจะไม่เพียงพอ ลองมาทำให้ร่างกายของเราเย็นสบายจากภายในด้วยการกินผักที่มีฤทธิ์เย็นกันดีกว่า เพื่อต่อสู้กับความร้อนแสนสาหัสของอากาศเมืองไทยในช่วงนี้
ผักที่มีฤทธิ์เย็นคือผักที่เนื้อชุ่มน้ำ มีรสขม จืด หรือหวานอ่อนๆ ไม่หวานจัด เนื้อไม่แข็งจัด มักมีสีเขียวเข้ม เขียวอ่อน ขาว เมื่อกินเข้าไปแล้วจะให้ความรู้สึกชุ่มคอ ช่วยปรับสมดุลในร่างกายไม่ให้ร้อนจนเกินไป
ดูสูตรอาหารจากหัวไชเท้าได้ที่นี่
1. หัวไชเท้า
หนึ่งในผักยอดนิยมสำหรับใส่แกงจืด หัวไชเท้าหรือหัวผักกาดมีเนื้อสีขาว สามารถกินได้ทั้งแบบดิบ สุก และแปรรูปเป็นหัวไชโป๊ดองเค็ม ในหัวไชเท้ามีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบรรเทาอาการไอหรือคออักเสบเรื้อรัง ด้วยการนำหัวไชเท้าสดมาล้างให้สะอาด หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ขวดแก้ว ใส่น้ำ โรยน้ำตาลเล็กน้อย ปิดฝาทิ้งไว้ 1 คืนแล้วดื่มบ่อยๆ มีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือด ช่วยให้หายใจสะดวก บรรเทาอาการท้องผูก ชำระล้างผนังกระเพาะและลำไส้ ส่งเสริมการทำงานของตับ บรรเทาอาการผิดปกติของทางเดินปัสสาวะ และยังช่วยควบคุมการดูดซึมน้ำตาลในกระแสเลือดอีกด้วย
2. มะระ
หากพูดถึงผักรสขม หลายคนน่าจะนึกถึงมะระเป็นอันดับต้นๆ มะระที่นิยมรับประทานกันในประเทศไทยมี 2 แบบ คือ มะระจีน ผลใหญ่ ผิวขรุขระ น้ำหนักมาก นิยมนำมาทำแกงจืดมะระยัดไส้ กับ มะระขี้นก ลูกเล็ก ผลสีเขียวแก่ นิยมนำมาลวกจิ้มน้ำพริก มะระมีสรรพคุณเป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ลดน้ำตาลและไขมันในเลือด ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ บำรุงสายตา มีวิตามินซี แคลเซียม และฟอสฟอรัส สำหรับใครที่รู้สึกว่ามะระขมจนเกินจะกินไหว เทคนิคง่ายๆ ในการลดความขมของมะระคือให้นำมะระไปคลุกกับเกลือทิ้งไว้สักครู่ แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดก่อนนำไปประกอบอาหาร
3. ฟัก
ฟักเป็นพืชเถาเลื้อยในตระกูลแตง เนื้อฉ่ำน้ำ เปลือกมีทั้งสีขาวและสีเขียวตามแต่ละชนิด ผลกลมยาว เป็นส่วนประกอบในอาหารคาวหวานหลายชนิด เช่น แกงเขียวหวานไก่ใส่ฟัก แกงจืดฟักเขียว แกงเลียง ฟักเชื่อม ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ หลอดลมอักเสบ ร้อนใน อาการบวมน้ำ ลดความดันโลหิต มีสารเทอร์พีนที่ช่วยต้านมะเร็ง
4. บวบ
บวบที่นิยมนำมาอาหารในไทยมีอยู่ 2 ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ บวบเหลี่ยม ผลทรงกระบอกมีสันคมประมาณ 10 สัน เปลือกหนา เนื้อในมีรสขม และ บวบกลม (บวบหอม) ผลยาวกว่าบวบเหลี่ยม เนื้อในสีขาวชุ่มน้ำ บวบเป็นผักฤทธิ์เย็น ช่วยลดอาการร้อนใน ลดไข้ แก้ไอ เจ็บคอ ขับลม ปวดประจำเดือน บรรเทาอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ เลือดออกตามทางเดินอาหาร ขับปัสสาวะ และผลอ่อนยังใช้เป็นยาระบายได้อีกด้วย
ดูสูตรอาหารจากขี้เหล็กได้ที่นี่
5. ขี้เหล็ก
ปิดท้ายด้วยผักรสขมอีกชนิดอย่าง ขี้เหล็ก ซึ่งนิยมนำใบมาประกอบอาหารอย่างแกงขี้เหล็ก ในตำราแพทย์แผนไทยใช้ขี้เหล็กช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงเลือด บำรุงน้ำดี แก้ท้องผูก ลดความดันโลหิต ช่วยเรื่องโรคเบาหวาน กำจัดเสมหะ แก้ร้อนใน ขับปัสสาวะ รักษานิ่ว ขับพยาธิ บรรเทาอาการเหน็บชา มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง
ถึงแม้ขี้เหล็กจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่เหมือนกัน นั่นก็คือต้องใช้ยอดอ่อนจนถึงใบขนาดกลาง นำไปต้มให้เดือดสัก 2-3 น้ำแล้วจึงนำไปประกอบอาหาร เพื่อกำจัดสารที่อาจเป็นอันตรายต่อตับ และไม่ควรรับประทานในรูปแคปซูลใบขี้เหล็กตากแห้งเนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้
Credit: club.sanook.com, medthai.com, siamherbs.blogspot.com,
sukkaphap-d.com, doctor.or.th, mcot-web.mcot.net