ว่ากันว่า หากไปเยือนเชียงใหม่แล้วไม่ได้ขึ้นดอยสุเทพหรือไม่ได้กินข้าวซอยก็เหมือนไปไม่ถึงเชียงใหม่ ความเชื่อนี้ถือเป็นหลักฐานถึงความสำคัญของ “ข้าวซอย” เมนูอร่อยสไตล์สิบสองปันนาที่กลายเป็นเมนูอาหารเหนือขึ้นชื่อที่ทุกคนติดใจในรสชาติ แต่หลายคนจะทราบหรือไม่ว่าที่มาของอาหารชนิดนี้มาจากไหน?
“ข้าวซอย” เป็นอาหารพื้นบ้านทางภาคเหนือ มีลักษณะคล้ายเส้นบะหมี่ในน้ำแกงกะหรี่ เชื่อกันว่าเป็นวัฒนธรรมอาหารที่ได้รับอิทธิพลมมาจากการทำการค้าขายกับพ่อค้าชาวจีนฮ่อหรือชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามในช่วงกลางยุคศวรรษที่ 19 ที่เข้ามาค้าขายในดินแดนสิบสองปันนาไปจนถึงยูนนาน ข้าวซอยจีนฮ่อจึงเข้ามาอยู่ในวัฒนธรรมของชาวสิบสองปันนาในสมัยนั้น และได้มีการพัฒนาให้เข้ากับลิ้นคนไทยมากขึ้น ด้วยการปรับสูตรใส่กะทิ โรยต้นหอมผักชี รับประทานคู่กับเครื่องเคียงอย่างพริกผัดน้ำมัน มะนาว หอมแดงซอย รวมทั้งผักกาดดอง กลายเป็นข้าวซอยแสนอร่อยที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ข้าวซอยแบบดั้งเดิมจึงมีเพียงข้าวซอยไก่และข้าวซอยเนื้อเท่านั้น
สำหรับเหตุผลที่เรียกอาหารชนิดนี้ว่า “ข้าวซอย” ก็เพราะในสมัยโบราณยังไม่มีเครื่องจักรในการผลิตเส้นบะหมี่ที่ใช้ทำข้าวซอย จึงใช้การทำเส้นสด โดยนำแป้งข้าวสาลี ไข่ เกลือ น้ำ มาผสมกันแล้วนวด จนเข้ากันดี แล้วกดรีดให้เป็นแผ่น แล้วเอามีดมาซอยแผ่นแป้งให้เป็นเส้น จึงเรียกว่า “ข้าวซอย” นั่นเอง